สราวุฒิ ธัมจุล ผู้จัดการด้านความมั่นคงปลอดภัย บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส กล่าวว่า ความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุการณ์ทางด้านภูมิรัฐศาสตร์หรือเศรษฐกิจสังคม ภัยธรรมชาติ ตลอดจนภัยคุกคามอื่น ๆ ทำให้นักเดินทางต้องติดตามข้อมูลข่าวสารอยู่เสมอ และเตรียมพร้อมหากมีการประกาศล่วงหน้าอย่างกะทันหันซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในวงกว้าง องค์กรต่าง ๆ ควรเน้นย้ำให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของการประเมินความเสี่ยงก่อนการเดินทาง ตลอดจนตระหนักรู้ในเรื่องสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อที่พนักงานจะได้รับมือกับความเสี่ยงจากการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"นอกจากนี้ สิ่งสำคัญสำหรับองค์กรคือ ต้องมีวิธีการสื่อสารที่ชัดเจนเพื่อรายงานเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจว่าพนักงานจะได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเมื่อเกิดเหตุจำเป็น ทั้งนี้ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ การสื่อสารเชิงรุกที่ชัดเจนและครอบคลุม ซึ่งรวมถึงการตอบสนองขององค์กรจากฝ่ายบริหารจัดการความปลอดภัย จะช่วยคลายความวิตกกังวล และทำให้การดำเนินขั้นตอนต่อ ๆ ไปมีความชัดเจนขึ้น องค์กรต่าง ๆ ควรใช้มาตรการเชิงรุกและส่งเสริมวัฒนธรรมการตระหนักรู้ถึงความเสี่ยง เพื่อให้พนักงานมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลวันหยุดได้อย่างปลอดภัยและห่างไกลโรค"
ทางด้านนพ.จามร เงินจารี ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอสโอเอส กล่าวว่า สุขภาพและสุขภาวะของบุคลากรควรเป็นเรื่องที่องค์กรให้ความสำคัญสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลวันหยุดที่การเดินทางและการเฉลิมฉลองอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาวะโดยรวมได้ องค์กรต่าง ๆ ควรแนะนำให้พนักงานเตรียมยาที่จำเป็นให้พร้อม ดื่มน้ำและนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วย ควรจัดให้มีบริการการแพทย์ทางไกลเพื่อช่วยให้พนักงานเข้าถึงคำแนะนำและขอคำปรึกษาจากแพทย์ได้อย่างสะดวกและทันท่วงที รวมถึงการสร้างความมั่นใจว่าพนักงานจะได้รับการดูแลที่รวดเร็วและเหมาะสมหากรู้สึกไม่สบายระหว่างการเดินทาง
เคล็ดลับการเดินทางให้ปลอดภัยและสุขภาพดีในช่วงเทศกาล:
1.คอยติดตามข้อมูลข่าวสารและเตรียมตัวให้พร้อม: สนับสนุนให้พนักงานทำแบบประเมินความเสี่ยงก่อนการเดินทาง พร้อมทั้งศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินทางและข้อควรระวังด้านสุขภาพ
2. ส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะ: ส่งเสริมให้พนักงานทำนัดเพื่อเข้ารับคำปรึกษาด้านสุขภาพล่วงหน้าก่อนการเดินทาง
3. รู้จักวิธีเอาตัวรอดในสถานที่ที่ผู้คนแออัด: ส่งเสริมให้พนักงานตระหนักรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ และเชื่อในสัญชาตญาณของตนเอง เตือนพนักงานให้สังเกตสิ่งรอบตัว คอยระแวดระวัง และเก็บของมีค่าให้ปลอดภัยหรือไม่ให้คลาดสายตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่ท่ามกลางฝูงชนจำนวนมาก
4. เข้าใจความอ่อนไหวทางวัฒนธรรม: ส่งเสริมให้พนักงานเคารพขนบธรรมเนียมและประเพณีของสถานที่ที่จะเดินทางไป ควรแต่งกายให้เหมาะสมและหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมกิจกรรมที่อาจจะถือว่าเป็นการล่วงละเมิด
5. บริหารจัดการแผนการเดินทางให้มีความยืดหยุ่น: แผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงมีความสำคัญ พนักงานควรมีแผนสำรองสำหรับเหตุไม่คาดฝัน วันที่/เส้นทางขาไปและขากลับควรมีความยืดหยุ่น และควรเผื่อเวลาในการเดินทาง เนื่องจากการจราจรในสนามบิน สถานีขนส่ง และบนท้องถนน อาจจะหนาแน่นเป็นพิเศษ
6. กินดื่มให้สนุก แต่ก็ห้ามตกข่าว: ย้ำเตือนพนักงานให้ดื่มน้ำและพักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งเตรียมยาที่จำเป็นให้พร้อม ตลอดจนตรวจสอบสภาพอากาศและศึกษาข้อมูลความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่ที่จะเดินทางไป ที่พัก และการเกิดเหตุอาชญากรรมในพื้นที่ที่เป็นจุดหมายปลายทาง