จากกรณีเกิดเหตุล้อประคองรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง หลุดร่วงลงมาใส่รถแท็กซี่บริเวณถนนเทพารักษ์ กม.3 ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งอยู่ระหว่างสถานีทิพวัล (YL22) และสถานีศรีเทพา (YL21) เมื่อเวลา 18.21 น. วานนี้
ทางบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ได้ออกมาชี้แจงแล้วว่า จากการตรวจสอบหาสาเหตุเบื้องต้น พบว่า เกิดจากเบ้าลูกปืนของล้อประคอง (Guide Wheel) เสียหายทำให้ล้อหลุดร่วงลงมา
โดยขบวนรถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลืองที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ ซึ่งมีการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงตามรอบโดยปกติ และขณะนี้กำลังตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุโดยละเอียด ขณะที่ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว
ทั้งนี้ รถไฟฟ้ามหานครสายสีเหลือง จะดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันเหตุ และเร่งหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปหาสาเหตุ และแนวทางป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก เบื้องต้นได้ประสานกับบริษัทประกัน เพื่อให้เข้าดูแลผู้ได้รับความเสียหายต่อไป
โดยวันนี้ในช่วง 14.00 น.นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ได้เชิญ EBM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง มาประชุมหารือกับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก ซึ่งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นเป็นเรื่อง การบำรุงรักษาเชิงป้องกัน หรือ Preventing Maintenance ที่อาจไม่เพียงพอ หย่อนยานไปหรือไม่ รวมถึงตรวจสอบข้อสัญญาด้วยว่า ต้องมีการลงโทษกับผู้ให้บริการอย่างไร
"ในเรื่องอุบัติเหตุของระบบคมนาคมรวมถึงอุบัติเหตุในระหว่างการก่อสร้าง ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างทำมาตรการควบคุมการทำงาน โดยจะทำเป็นสมุดพก บันทึกการทำงานผลงานของเอกชนที่เป็นคู่สัญญากับทุกหน่วยงานของกระทรวง หากทำงานมีปัญหาไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดจะนำไปสู่การลงโทษ เช่น ห้ามเข้าร่วมประมูลงานของกระทรวงฯ และจะมีการลดลำดับชั้นผู้รับเหมา เป็นต้น โดยอยู่ระหว่างหารือกรมบัญชีกลาง คาดว่าจะกำหนดเกณฑ์ออกมาชัดเจนภายใน 2 เดือนนี้"นายสุริยะกล่าว
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า หลังเกิดเหตุได้ลงพื้นที่ตรวจสอบจุดเกิดเหตุ จากการตรวจสอบ พบว่า วงรอบชั่วโมงการใช้งานจะอยู่ที่ 300,000 กว่าชั่วโมง แต่ปัจจุบันการใช้งานอยู่ที่ 60,000 กว่าชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งสาเหตุเบื้องต้นที่ทำให้ล้อประคองหลุดได้ข้อสรุปว่า เป็นปัญหาข้อบกพร่องที่เกิดจากการผลิตที่โรงงาน ซึ่งได้มีคำสั่งหยุดการนำใช้งาน อุปกรณ์ที่อยู่ในล็อตดังกล่าวแล้ว ส่วนข้อสันนิษฐานว่าล้อหลุดเกิดจากความร้อน ตนยังไม่แน่ใจ ต้องตรวจสอบละเอียดก่อน คาดว่าจะเป็นเฉพาะบางอันแต่ระงับใช้ไปแล้ว ซึ่งจะต้องตรวจสอบพิสูจน์เชิงลึกต่อไปว่าเป็นเรื่องเบ้าลูกปืน หรือความร้อน
ส่วนรถที่วิ่งให้บริการตอนนี้ จะต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบ 100% ทุกระบบ ยืนยันว่าปลอดภัย โดยได้มีการสั่งการให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เข้าร่วมกับ EBM ในการตรวจเช็คระบบโดยละเอียดทุกขบวน ก่อนนำออกวิ่งบริการในวันนี้
รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. มีการตรวจเช็กล้ออย่างละเอียดก่อนปล่อยให้บริการ โดยแจ้งปรับรูปแบบการเดินรถ โดยเปิดให้บริการทุก 30 นาที ตั้งแต่เวลา 06.00-24.00 น. จากปกติให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน ทุก 5 นาที และนอกชั่วโมงเร่งด่วน ทุก 10 นาที
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การให้บริการในวันนี้ ความถี่ลดลงไม่เหมือนปกติ ดังนั้น จึงไม่น่าจะมีค่าใช้จ่าย ซึ่งบ่ายนี้ หลังประชุมและกำหนดมาตรการความปลอดภัยแล้ว จึงจะอนุมัติทั้งระบบอีกที อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้า เป็นการขนส่งมวลชนสาธารณะที่มีความจำเป็น ดังนั้นกระทรวงคมนาคมจะต้องหามาตรการที่มีความปลอดภัยสูงสุด จึงจะปล่อยให้นำรถออกวิ่งให้บริการได้
"กรณีสายสีชมพู ที่เกิดก่อนหน้านี้ เป็นจากอุบัติเหตุ ที่มีการดึงแผ่นเหล็กด้านล่าง แต่สายสีเหลืองนี้ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องของระบบจริงๆ ซึ่ง รถไฟฟ้าที่เป็นระบบโมโนเรล ล้อจะอยู่ด้านนอก ไม่เหมือนรถไฟฟ้า Heavy Rail ดังนั้นต้องหาวิธีหรือ อุปกรณ์ที่จะปกป้องล้อ หรือทำอย่างไรเพื่อให้ด้านใต้โครงสร้างมีความปลอดภัย"นายสุรพงษ์ กล่าว