ตามที่มีการเผยแพร่ถึงปัญหาของสถานีขนส่งหมอชิต 2 ในด้านคุณภาพของชานชาลา บันไดเลื่อน ไฟฟ้าส่องสว่าง ป้ายบอกทาง การเชื่อมต่อการเดินทาง จุดดับเพลิง และห้องพยาบาล รวมถึงห้องให้นมบุตรนั้น รวมถึงปัญหาการเดินทางไปยังสถานีขนส่งหมอชิต 2 ที่เข้าถึงยาก และมีการใช้พื้นที่ไม่คุ้มค่า รวมถึงปัญหาเรื่องคุณภาพของอาคาร
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ล่าสุดได้สั่งการให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เร่งดำเนินการแก้ไขโดยทันที เพื่อให้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ซึ่งในขณะนี้ บขส. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาในบางส่วนแล้ว เหลือเพียงการแก้ไขปัญหาเรื่องบันไดเลื่อนเก่า ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีความปลอดภัยระดับสูงสุด โดยในปัจจุบัน บขส. อยู่ระหว่างการออกแบบให้มีความเหมาะสม ทั้งด้านจำนวน และตำแหน่ง รวมถึงการติดตั้งพัดลมระบายอากาศในพื้นที่ชานชาลาเพิ่มเติมด้วย พร้อมสั่ง บขส. เตรียมรองรับการเดินทางช่วงสงกรานต์ 67
นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังมีแนวคิดในการพัฒนาสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่ เนื่องจากสถานีขนส่งหมอชิต 2 ในปัจจุบัน เป็นสถานีขนส่ง "ชั่วคราว" ย้ายมาจากหมอชิตเดิม โดยจะพัฒนาเป็นอาคารสูงที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ได้อย่างสะดวก และมีอาคารแยกการให้บริการในแต่ละแนวเส้นทาง อาทิ อาคารเส้นทางสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) สายใต้ และสายตะวันออก
สำหรับรูปแบบในการพัฒนาสถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่นั้น จะต้องออกแบบให้ผู้โดยสารสามารถเดินเท้าเชื่อมต่อระหว่างอาคารกับสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวก ซึ่งจะเชื่อมต่อโดยอุโมงค์ หรือทางเดินที่มีหลังคาคลุม นอกจากนั้นแล้วการให้บริการของรถ บขส. จะต้องเป็นรูปแบบเดียวกันกับสนามบิน หรือจะต้องใช้ประตูทางออกร่วมกัน (Shared Gate) เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีประสิทธิภาพ โดยรถ บขส. จะต้องเข้ามารับผู้โดยสารตามเวลาที่กำหนด และออกจากสถานีภายในเวลา เพื่อให้การให้บริการในเส้นทางอื่น ๆ สามารถเข้ามาใช้ Gate ต่อเนื่องได้
รมว.คมนาคม กล่าวว่า การพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพแห่งใหม่ในอนาคตจะนำหลักคิดการให้บริการประชาชนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา และออกแบบระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อสร้างความสะดวกสบาย รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพในราคาที่ถูกและเหมาะสม เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขทุกภาคส่วน โดยการพัฒนาดังกล่าวคาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาประมาณ 4 ปี และจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการลงทุนที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาที่ดินมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท แต่เชื่อว่า บขส.มีทรัพย์สินในการบริหารจัดการ และมีสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนา จึงมั่นใจว่าจะไม่เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดิน
"รูปแบบการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพแห่งใหม่ได้ใช้โมเดลจากต่างประเทศ เพื่อนำมาประกอบแผนการพัฒนาในประเทศไทย อาทิ ประเทศญี่ปุ่น ณ สถานีฮากาตะ ที่พัฒนาสถานีโดยสารเป็นอาคารสูง และเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟได้อย่างสมบูรณ์แบบ, สถานีโตเกียว ที่มีการพัฒนาสถานีโดยสารที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟโตเกียว เป็นต้น" นายสุริยะ กล่าว
โครงการดังกล่าวจะสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่สนับสนุนให้การเดินทางในระยะใกล้ไม่เกิน 200 กิโลเมตร ใช้ระบบขนส่งรอง (Feeder) ซึ่งรถ บขส.ถือเป็นระบบขนส่งรองประเภทหนึ่ง เพื่อไปเชื่อมต่อกับการขนส่งระบบรางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นระบบหลักของการเดินทางระยะไกลที่มีระยะทางมากกว่า 200 กม.ซึ่งได้มีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ครอบคลุมในเส้นทางทั่วประเทศ