กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) คาดการณ์สถานการณ์โรคที่อาจเกิดการระบาด และโรคที่ต้องเฝ้าระวัง โดยพยากรณ์จากข้อมูลการระบาด และปัจจัยแวดล้อมที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างเหมาะสม โดยในปีนี้จะมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการระบาดของ 3 โรค ดังนี้
1. โรคโควิด-19 ที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะมีภูมิคุ้มกัน สามารถลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อ แต่ต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเปราะบาง 608 เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง โรคอ้วน มะเร็ง และหญิงตั้งครรภ์ ที่ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง หากไปในสถานที่เสี่ยงให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ โดยปี 2566 พบผู้ป่วยทั้งหมด 652,868 ราย เสียชีวิต 848 ราย คาดการณ์ว่าปี 2567 จะพบผู้ป่วยประมาณ 649,520 ราย
2. โรคไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคระบบทางเดินหายใจเช่นเดียวกันกับโรคโควิด-19 มีความรุนแรงสามารถทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน ซึ่งในปี 2566 พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 460,325 ราย เสียชีวิต 29 ราย และคาดการณ์ว่าปี 2567 จะพบผู้ป่วยประมาณ 346,110 ราย
3. โรคไข้เลือดออก ที่มียุงลายเป็นพาหะ โดยปี 2566 พบผู้ป่วยทั้งหมด 156,097 ราย เสียชีวิต 187 ราย และคาดการณ์ว่าปี 2567 จะพบผู้ป่วยประมาณ 276,945 ราย เสียชีวิต 280 ราย
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า นอกจาก 3 โรค ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดการระบาดขึ้นแล้ว ยังเฝ้าระวังโรคที่มีโอกาสเกิดการระบาดและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโรคตามฤดูกาล หรือโรคที่เป็นปัญหาเฉพาะกลุ่มอีก 12 โรค ดังนี้ 1.โรคมือเท้าปาก 2.โรคหัด 3.โรคฝีดาษวานร 4.โรคเมลิออยโดสิส (ไข้ดิน) 5.โรคไข้ฉี่หนู 6.โรคไข้หูดับ 7.โรคไวรัสซิกา 8.โรคชิคุนกุนยา (ไข้ปวดข้อยุงลาย) 9.โรคซิฟิลิส 10.โรคหนองใน 11.โรคเอดส์ และ 12.โรควัณโรค
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพทุกช่องทางอย่างต่อเนื่อง มีการพยากรณ์ล่วงหน้าให้เห็นแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเตรียมการรับมือ รวมถึงเน้นย้ำมาตรการป้องกันอย่างสม่ำเสมอ ขอให้ประชาชนรับฟังข้อมูลข่าวสารโรคและภัยสุขภาพจากหน่วยงานของภาครัฐ หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นโรคและภัยสุขภาพ สามารถโทรสอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422