นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร วานนี้ (12 ม.ค.) โดยระบุว่า เรื่องยุทธศาสตร์เป็นเรื่องใหญ่ที่กำหนดการดำเนินงานของกทม. โดยแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2568 ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2569 ซึ่งมีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ที่มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกมาร่วมเป็นกรรมการ
ทั้งนี้ หัวใจของยุทธศาสตร์จะต้องมี Action Plan (แผนปฏิบัติ) ที่ชัดเจน เพื่อให้ทุกคนสามารถดำเนินงานไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน ซึ่งได้มีการเปลี่ยนผ่านนโยบาย 9 ด้าน 9 ดี เดิม (216 เป้าหมาย) สู่ยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร 9 ด้าน 9 ดี ใหม่ (226+เป้าหมาย) 28 ประเด็นการพัฒนา ซึ่งจะนำไปใช้เป็นกรอบแนวทางการจัดทำแผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2569 โดยได้มีการเปลี่ยนตัวชี้วัดจาก KPI (Key Performance Indicator) เป็น OKRs (Objective and Key Results) เพื่อให้ทำงานได้มีประสิทธิผลมากขึ้น มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจน เพื่อให้แต่ละหน่วยงานทราบว่าต้องทำอะไร ทั้งนี้ แผนปฏิบัติราชการกรุงเทพมหานครมี ด้วยกัน 440 OKRs
"คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ในเบื้องต้นจะมีการนัดประชุมทุก 2 เดือน การประชุมครั้งนี้เป็นการคุยกันครั้งแรกในภาพรวม แล้วจะมีการร่วมกันจัดทำแผนฯ ปี 69 เพื่อให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ ในส่วนของวิสัยทัศน์หลักคือทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน หัวใจสำคัญที่คณะกรรมการฯ ให้ความสำคัญ คือ ให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างไร เพราะประชาชน และ กทม.ต้องเดินไปด้วยกัน ประชาชนต้องรู้และเข้าใจว่าเราจะทำอะไร ตัวชี้วัดคืออะไร และเห็นว่าสิ่งที่จะเปลี่ยนในชีวิตคืออะไร โดยเราจะมี Dashboard สำหรับติดตามความก้าวหน้าของนโยบายหรือยุทธศาสตร์ในแต่ละด้าน" ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว
สำหรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
1. กำหนดแนวนโยบายและเป้าหมายการพัฒนากรุงเทพมหานคร เพื่อให้สามารถบริหารงาน แก้ไขปัญหา และพัฒนากรุงเทพมหานคร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครให้ได้รับประโยชน์สูงสุด
2. บูรณาการแผนงาน โครงการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากรุงเทพมหานคร ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาล นโยบายของผู้บริหารกรุงเทพมหานคร และแผนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3. กำหนดแนวทางการถ่ายทอด และขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี และระยะ 5 ปี โดยคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนากรุงเทพมหานคร และการยกระดับความสามารถในการบริหารจัดการกรุงเทพมหานคร และเครือข่ายทุกภาคส่วน รวมถึงบริบทของพื้นที่และประโยชน์ของประชาชน
4. ให้ความเห็นชอบแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากรุงเทพมหานคร แผนปฏิบัติราชการประจำปีของกรุงเทพมหานคร แผนปฏิบัติราชการประจำปีของหน่วยงาน แผนบูรณาการ และกรอบวงเงินหรือสัดส่วนงบประมาณในการดำเนินการ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับต่าง ๆ
5. ประสานงานกับหน่วยงาน ส่วนราชการ องค์การของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่น ๆ รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชน ในการปรึกษาหารือ รับฟังความคิดเห็น และแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการตามความจำเป็น
6. ติดตามประเมินผล และถอดบทเรียนในการบริหารยุทธศาสตร์
7. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาในด้านต่าง ๆ และสนับสนุนในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตามที่เห็นสมควร