สธ. ผุด Clean Room รองรับกลุ่มเสี่ยง หลัง PM2.5 ส่อรุนแรงกระทบสุขภาพ

ข่าวทั่วไป Thursday January 25, 2024 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สธ. ผุด Clean Room รองรับกลุ่มเสี่ยง หลัง PM2.5 ส่อรุนแรงกระทบสุขภาพ

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาจรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา สธ. จัดทำห้องปลอดฝุ่นในโรงพยาบาล 30 จังหวัดเสี่ยงสูงและสังกัดกรมวิชาการ รวม 2,562 ห้อง รองรับกลุ่มเสี่ยงได้กว่า 4.5 หมื่นคน เปิดคลินิกมลพิษและออนไลน์รวม 90 แห่ง เพิ่มการเข้าถึงการรักษาและเฝ้าระวัง แนะประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ "หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด" ลดอันตรายจากฝุ่น

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ PM 2.5 ที่มีแนวโน้มเกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ในปี 67 นี้ สธ. ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน และรักษา โดยในการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ จะมุ่งเน้นการสื่อสาร ให้คำแนะนำในการป้องกันตนเอง การจัดทำ Clean Room (ห้องปลอดฝุ่น) ในชุมชน ตั้งเป้าหมายให้มีห้องปลอดฝุ่นทุกอำเภอ และให้ทีม อสม. ลงปฏิบัติการเชิงรุกให้คำแนะนำและประเมินสุขภาพประชาชนเบื้องต้น

ส่วนการรักษาพยาบาล ได้จัดบริการคลินิกมลพิษกระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 90 แห่ง เพื่อให้คำแนะนำและรักษาพยาบาลผู้ป่วย และมีการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การดูแลเชิงรุก มีระบบ telemedicine หรือสายด่วนให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน เพื่อติดตามเฝ้าระวัง และให้การดูแลประชาชนได้ทันเวลาเมื่อสถานการณ์ฝุ่นมีความรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และปฏิบัติตามคำแนะนำในการป้องกันตนเองตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. กล่าวว่า ขณะนี้โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในเขตสุขภาพที่ 1, 2, 3, 8 และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงรวม 30 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ ชัยนาท กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม สกลนคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ได้จัดทำห้องปลอดฝุ่นให้กลุ่มเสี่ยงได้เข้าพัก เพื่อลดโอกาสรับสัมผัสมลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM 2.5 จำนวนทั้งหมด 2,053 ห้อง รองรับประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ประมาณ 33,000 คน ประกอบด้วย รพ.ศูนย์/ รพ.ทั่วไป 42 แห่ง จำนวน 661 ห้อง รพ.ชุมชน 283 แห่ง รวม 1,392 ห้อง และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมีห้องปลอดฝุ่นของหน่วยงานสังกัดกรมวิชาการ ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต จำนวน 509 ห้อง รองรับกลุ่มเสี่ยงได้ประมาณ 12,000 คน ซึ่งประชาชนกลุ่มเสี่ยงสามารถติดต่อเข้ารับบริการหรือสอบถามรายละเอียดได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ ได้เปิดคลินิกมลพิษแห่งแรกที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี เป็นคลินิกเฉพาะทางที่ให้บริการผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีการสัมผัสฝุ่น และให้คำแนะนำการป้องกันการเกิดอาการซ้ำจากการสัมผัสฝุ่น รวมทั้งการดูแลรักษาทั้งระบบ Onsite และ Telemedicine และสร้างเครือข่ายคลินิกมลพิษในโรงพยาบาลภาครัฐ จำนวน 90 แห่งทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ได้พัฒนาให้เป็นคลินิกมลพิษ Online ผ่านแอปพลิเคชัน Line ซึ่งมีการแจ้งเตือนค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ ข้อมูลความรู้ในการป้องกันการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งสามารถประเมินผลกระทบสุขภาพพร้อมคำแนะนำในการดูแล บรรเทาอาการเบื้องต้น และหากมีอาการรุนแรงสามารถลงทะเบียนพบแพทย์ในระบบ Telemedicine ได้

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานคลินิกมลพิษ ช่วงปี 65-66 พบมีผู้ได้รับการประเมินว่าเจ็บป่วยจากการสัมผัส PM 2.5 จำนวน 1,764 ราย ส่วนใหญ่มีอาการระบบทางเดินหายใจ ระบบตาและระบบผิวหนัง ไม่พบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาล


แท็ก PM 2.5  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ