นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้ในโรงงานขยะรีไซเคิล ของบริษัท วงษ์พาณิชย์ ต.ท่าทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก เมื่อวันที่ 26 ม.ค.67 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดควันไฟ เขม่า และฝุ่นละอองปนเปื้อนในอากาศ ฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณ รวมทั้งปกคลุมไปยังชุมชนที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง ทำให้ตลอดช่วงเกิดเหตุประชาชนได้รับความเดือดร้อนกลิ่นเหม็นจากควันและฝุ่นละออง อาจส่งผลข้างเคียงทางสุขภาพกับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบางทั้งผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ
กรมอนามัย จึงให้ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 2 พิษณุโลก ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สำรวจข้อมูลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมโดยรอบ และสุขภาพประชาชนในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง มีข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า โรงงานได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทการสะสมวัตถุสิ่งของที่ใช้แล้ว หรือเหลือใช้ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างถูกต้อง และหน่วยงานได้เฝ้าระวัง ควบคุม กำกับด้านสุขลักษณะการประกอบการ การจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ตลอดจนดูแลด้านความปลอดภัยอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ ประเด็นการปนเปื้อนน้ำชะขยะ จากการดับไฟลงแหล่งน้ำสาธารณะ พบว่า โรงงานมีรางระบายน้ำเพื่อเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงาน จึงไม่มีความเสี่ยงการปนเปื้อนของน้ำชะขยะดังกล่าว ลงในแหล่งน้ำใกล้เคียง ทั้ง 1) แม่น้ำน่านอยู่ด้านหลังโรงงานห่างออกไปประมาณ 320 เมตร และ 2) ระบบน้ำประปาชุมชน ที่อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 1 กิโลเมตร
ส่วนการประเมินผลกระทบสุขภาพประชาชน ไม่พบผู้บาดเจ็บ หรือเสียชีวิต แต่พบประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นควันไฟ และฝุ่นละอองจากไฟไหม้ที่มาจากโรงงาน ทำให้บางรายหายใจไม่ออก แสบ และระคายเคืองตา จมูก เบื้องต้นทีมจังหวัดจึงได้สนับสนุนหน้ากาก N-95 ให้ประชาชนสำหรับป้องกันตนเองจากควันไฟและฝุ่นละอองแล้ว
นอกจากนี้ มีคำแนะนำทางสุขภาพประชาชน หากมีอาการรุนแรงจากการสูดดมควันไฟและฝุ่นละอองจากเหตุดังกล่าวแทรกซ้อนขึ้นในช่วงนี้ ให้ประสานหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ และพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยทันที
"ขอให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ และผู้ประกอบกิจการควบคุม กำกับ ดูแล เฝ้าระวัง กำหนดมาตรการในการป้องกันความเสี่ยงการเกิดไฟไหม้ที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในภายหลังโดยเร่งด่วน เนื่องจากสถานประกอบกิจการดังกล่าว มีการสะสมวัตถุ สิ่งของเหลือใช้ต่าง ๆ ที่เป็นเชื้อเพลิงที่ติดไฟได้ง่าย รวมทั้งควรมีมาตรการในการคัดกรองวัตถุที่รับเข้ามาในโรงงานอย่างเข้มงวด" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
พร้อมระบุว่า หากพบวัตถุสิ่งของที่มีความเสี่ยงเป็นสารเคมี หรือวัตถุกัมมันตรังสี หรือวัตถุอื่นใดที่คล้ายวัตถุระเบิด ขอให้รีบแจ้งหน่วยงานในพื้นที่ทันที ก่อนมีการแกะ งัด หรือเปิดผนึก เพื่อป้องกันอันตรายและความเสี่ยงภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นได้ เป็นการสร้างความเชื่อมั่น และความปลอดภัยต่อสุขภาพ ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนต่อไป