ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.การประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. ... ตามที่ประธานกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง เสนอ
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากบทบัญญัติบางประการของ พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก.การประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ไม่สอดคล้องกับวิธีการทำประมงในประเทศ จึงส่งผลกระทบทำให้ชาวประมงบางส่วนต้องเลิกอาชีพไป และเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพการทำประมง
นอกจากนี้ พ.ร.ก.การประมง ดังกล่าวยังไม่แบ่งแยกการบังคับใช้ระหว่างประมงพาณิชย์ กับประมงพื้นบ้าน แต่กลับเหมารวมหมด ทำให้เมื่อมีการบังคับใช้แล้วจึงเกิดผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ทำประมงพื้นบ้านที่อยู่ชายฝั่งทะเล 20 จังหวัด กว่า 6 แสนครัวเรือน
"พ.ร.ก.ประมง ที่ออกมาก่อนหน้านั้น เป็นการสนองต่อคู่ค้าทางประมง ที่เห็นว่าการทำประมงของไทยมีปัญหา IUU เยอะ ซึ่งทำให้ พ.ร.ก.ที่ออกมา มีวัตถุประสงค์บังคับใช้ในการเอาผิดกับผู้ทำผิดกฎ IUU ดังนั้น รัฐบาลนี้เล็งเห็นว่า พ.ร.ก.ที่ออกมา แม้จะดีในแง่การบังคับใช้กับคนที่ทำผิด IUU แต่ควรต้องเพิ่มความละเอียดว่าประมงพื้นบ้านที่ไม่ได้สร้างปัญหาระดับนานาชาติอะไรเลย แต่กลับได้รับผลกระทบไปด้วย จึงต้องแก้ไขความไม่ละเอียดของกฎหมายเดิม แต่ยังคงบังคับใช้การลงโทษผู้ทำผิดกติกาสากล IUU ควบคู่ไปกับการรักษาไว้ซึ่งวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านของเราไว้" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.ประมง มีดังนี้
1. กำหนดให้ผู้ที่มาขึ้นทะเบียนประมงพื้นบ้านต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น จากเดิมที่ไม่กำหนดสัญชาติ
2. ยกเลิกการริบเรือประมงที่ทำความผิด แต่ให้เหลือแค่การพักใบอนุญาตชั่วคราว
3. ให้ลงโทษเฉพาะเรือประมงลำที่ทำผิดเท่านั้น ไม่เหมารวมเรือประมงทุกลำของผู้ที่เป็นเจ้าของเรือ
4. เรือประมงขนาด 10-15 ตันกรอส สามารถโอนใบอนุญาตให้ทายาทได้
5. รายงานสถิติการทำประมงภายในไม่เกิน 31 ธ.ค.ของปีถัดไป
"มติ ครม.เห็นชอบหลักการตามร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอ แต่ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ไปศึกษาให้ละเอียดว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แม้คิดว่าดีแล้ว จะมีจุดไหนบ้างที่ยังขัดแย้งกับ IUU Fishing...กฤษฎีรับว่าจะไปดูให้จบภายใน 1 เดือน และจะนำกลับเข้ามารายงาน ครม.อีกครั้ง" นายชัย ระบุ
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาด้วยแล้ว รวม 21 ฉบับ ประกอบด้วย กฎกระทรวง 1 ฉบับ ระเบียบ 2 ฉบับ และประกาศ อีก 18 ฉบับ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า ครม.ได้มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ก.การประมง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าไม่ขัดแย้งกับหลักการของ IUU ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบร่างของ ครม. ภายในระยะเวลา 1 เดือน โดยจะส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในสัปดาห์หน้า โดยใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 2 เดือน และจะนำเข้าสู่ ครม. อีกครั้ง