จากกรณีที่ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวในพื้นที่ชลบุรีได้ร้องเรียนว่ามีขอทานต่างด้าวเข้ามานั่งขอทานตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ สร้างความเดือดร้อนให้นักท่องเที่ยว รวมถึงทำลายภาพลักษณ์ของเมืองท่องเที่ยวอีกด้วย
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลบูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดระเบียบคนขอทาน รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่ตรวจตราเฝ้าระวัง และเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบกวดขันการกระทำที่มีลักษณะผิดกฎหมายบริเวณทางเท้าและที่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง
การขอทานถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นผู้ที่แสวงหาประโยชน์จากการขอทาน อัตราโทษจะหนักขึ้นด้วย ทั้งนี้ จากตัวเลขของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2566 พบว่ามีขอทานในประเทศไทยกว่า 7,151 คน เป็นคนไทย 4,686 คน และเป็นขอทานต่างด้าว 2,465 คน โดยกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่พบขอทานมากที่สุด
ซึ่งในกรณีหากเป็นขอทานต่างด้าว เมื่อเจ้าหน้าที่พบเห็นหากมาคนเดียว จะดำเนินคดีและเมื่อสิ้นสุดคดีแล้ว จะดำเนินการส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นทาง แต่หากมากับเด็ก จะดำเนินการตรวจสอบสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายโลหิตก่อน และหากพบว่ามีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตจะรายงานผลไปที่สถานีตำรวจในท้องที่กระทำความผิด เพื่อประสานส่งกลับประเทศต้นทาง แต่ในกรณีที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต จะรายงานผล DNA ไปที่สถานีตำรวจในท้องที่กระทำความผิด เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามมาตรา 22 พระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 กรณีผู้แสวงหาประโยชน์ หรือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
"รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างเท่าเทียม สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยหากพบเห็นขอทาน ไม่ควรให้เงิน เพื่อไม่เป็นการส่งเสริมในทางที่ผิดกฎหมาย ช่วยรักษาภาพลักษณ์ประเทศและเป็นการแก้ไขปัญหานี้ได้อีกทางหนึ่ง เพราะการขอทานเป็นการกระทำผิดกฎหมาย โดยขอให้แจ้งมายัง ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ผ่านสายด่วน พม. 1300 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจัดชุดปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็ว ลงพื้นที่เข้าตรวจตราเหตุการณ์"