แนะรัฐบาลปรับโครงสร้างอุตฯส่งออกให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง

ข่าวทั่วไป Sunday February 4, 2024 15:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุภาวะการส่งออกภาคอุตสาหกรรมของไทยในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าอาจเติบโตต่ำจากปัญหาเชิงโครงสร้างของอุตสาหกรรมส่งออกและเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยเป็นแหล่งผลิตสำคัญของโลก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์แบบสันดาปภายใน อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive) หากไม่สามารถปรับตัวได้ทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสู่รถยนต์ไฟฟ้าจะทำให้มีอัตราการขยายตัวลดลงอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในอัตราเร่งจากปัญหาความรุนแรงของภาวะโลกร้อน หลายประเทศพัฒนาแล้วได้กำหนดเส้นตายไม่ให้รถยนต์สันดาปภายในวิ่งบนถนนอีกต่อไป ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสูญเสียตลาดการส่งออกและความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก เมื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวอย่างก้าวกระโดดย่อมส่งผลต่อโครงสร้างการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนลดลงจาก 30,000 ชิ้น เหลือเพียง 1,500-2,000 ชิ้น ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยมีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ ได้แก่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์ ถังน้ำมัน ท่อไอเสีย อุปกรณ์และชิ้นส่วนที่ใช้ในการสันดาปต่างๆ เป็นต้น ซึ่งมีมากกว่า 800 แห่ง และจ้างงานมากกว่า 600,000 คนที่มีทักษะการผลิตตามเทคโนโลยีเดิมอยู่ รวมถึงแรงงานในอุตสาหกรรมสนับสนุนจำนวนมาก นอกจากนี้ยังส่งผลต่อธุรกิจอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันและสถานบริการน้ำมัน เพราะความต้องการในการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิสจะลดลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต

งานวิจัยของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท โดย ดร.กิริยา กุลกลการ พบว่า มีแรงงานและสถานประกอบการที่ไม่ได้ผลิตชิ้นส่วนในรถไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบโดยตรง ขณะที่จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้นในการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น แบตเตอรี่ สถานีอัดประจุไฟฟ้า เป็นต้น จึงยังไม่ชัดเจนว่าตำแหน่งงานในภาพรวมจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่มีแนวโน้มชัดเจนว่าอุตสาหกรรมใหม่ๆ จะใช้แรงงานเข้มข้นน้อยลงและมีทักษะสูงขึ้น ซึ่งแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันไม่สามารถปรับเปลี่ยนทักษะได้ในทันที ต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาทักษะฝีมือ อีกทั้งแรงงานบางส่วนประสบปัญหาไม่สามารถปรับตัวได้ ช่วงการเปลี่ยนผ่านในอุตสาหกรรมยานยนต์ย่อมมีผลกระทบทางลบต่อตลาดการจ้างงาน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นผลกระทบต่อแรงงานในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ หลังจากนั้นจึงจะกระทบการผลิตเพื่อขายภายในประเทศ เนื่องจากตลาดต่างประเทศมีกฎระเบียบด้านการขนส่งที่เข้มงวดในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดังนั้นรัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร และพึงตระหนักว่า เราไม่สามารถทวนกระแสธารแห่งการเปลี่ยนแปลงได้นานมากนัก จึงต้องส่งสัญญาณให้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงานได้ปรับตัวให้ทันต่อพลวัตที่เกิดขึ้น ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (HDD-Hard Disk Drive) เช่นเดียวกัน ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิต HDD สำคัญของโลก อัตราการขยายตัวลดลงอย่างรวดเร็วจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แม้ไทยจะสามารถส่งออก HDD เป็นมูลค่าราว 1.3หมื่นล้านดอลลาร์ หรือขยายตัวราว 0.9-5.0% จากปี 2561 และเติบต่ออย่างต่อเนื่องไปแตะจุดสูงสุดในปี 2563 และหดตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากนั้น ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แม้ HDD จะเป็นอุปกรณ์หลักในการจัดเก็บข้อมูลมานานแต่ด้วยจุดอ่อนในเรื่องของการประมวลผลและขนาดที่ใหญ่ซึ่งสวนทางกับกระแสที่พฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมานิยมใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีขนาดเล็กและเบา เช่น สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต ส่งผลให้เทคโนโลยีคู่แข่งอย่างโซลิดสเตตไดรฟ์ (SSD) เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นและเข้ามามีส่วนแบ่งในตลาดอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประเมินว่าส่วนแบ่งตลาดสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ใช้ SSD ในการเก็บข้อมูล (Computer SSD) ในตลาดโลกในปี 2562 น่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดและกินส่วนแบ่งถึง 43% ของอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล จากที่อยู่ราว 31% ในปี 2560

การพัฒนานวัตกรรม SSD ได้เข้ามาแทนที่ HDD มากขึ้นในอัตราเร่ง และอาจมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 80% ในไม่ช้า อุตสาหกรรม HDD ที่เป็นเทคโนโลยีแบบเดิมที่ไทยเป็นฐานผลิตสำคัญของโลก ผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรม HDD จะปรับตัวกันอย่างไร บทบาทของรัฐที่เหมาะสมควรจะเป็นเช่นใดเป็นเรื่องที่ต้องมีการวางทิศทางให้ชัดเจน

ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เท่านั้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ธ.ค.66 ที่หดตัว 6.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัว 1.0% จากเดือนก่อนหน้า โดยมีอุตสาหกรรมที่หดตัวสูงและมีผลต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ (-20.6%) อุตสาหกรรมน้ำตาล (-22.9%) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (-12.6%) อุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์ (-19.9%) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ (-7.7%) ส่วนที่ยังเป็นบวกจะเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการบริโภคภายในประเทศ ราคาสินค้าเกษตรและความต้องการในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ไทยสามารถส่งออกข้าวได้ 8.76 ล้านตันเมื่อปีที่แล้ว สูงสุดในรอบ 5 ปี ราคาข้าวส่งออกเพิ่มขึ้นประมาณ 50 ดอลลาร์/ตัน ราคาและปริมาณส่งออกยาง ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังและข้าวโพด ก็เพิ่มสูงขึ้นจากความต้องการในตลาดโลก เป็นผลจากภัยแล้งและสงคราม

ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเดือน ธ.ค.66 อยู่แค่ 55.2% ของกำลังการผลิตรวม ลดลงจากเดือนก่อนที่ระดับ 58.1 อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยรวมอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 60% การลงทุนใหม่ย่อมชะลอตัวลง การหดตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอาจดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง และยังต้องเผชิญกับการทุ่มตลาดของสินค้าอุตสาหกรรมจากประเทศจีนที่กำลังเผชิญภาวะเงินฝืดอีกด้วย สถานการณ์การลงทุนและอุปทานส่วนเกินจำนวนมาก (Overcapacity) ในจีนต้องใช้เวลาหลายปีในการปรับเข้าสู่สมดุล การเร่งกระตุ้นอุปสงค์ภายในของจีนมีความจำเป็น ส่วนไทยนั้นแม้แนวโน้มการลงทุนโดยตรงของต่างชาติ (Foreign Direct Investment :FDI) ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 40% ปีที่แล้ว และไทยมียุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนของในอุตสาหกรรมนวัตกรรมสูงแต่มีข้อจำกัดอย่างมาก เพราะต้องอาศัยทรัพยากรมนุษย์คุณภาพสูง มีทักษะแรงงานทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบทางด้านวิจัยและนวัตกรรมรองรับ ซึ่งเศรษฐกิจไทยยังคงขาดแคลนอยู่ รวมทั้งระบบการศึกษาไม่ตอบสนอง และมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กรหน่วยงานส่งเสริมการลงทุน

บีไอโอเองก็ควรปรับบทบาทจากผู้ให้สิทธิประโยชน์เพื่อส่งเสริมการลงทุนมาเป็นผู้บูรณาการ อำนวยความสะดวกและเชื่อมโยงการลงทุนมากขึ้น เพื่อให้เกิดการกระจายผลประโยชน์จากการลงทุนของต่างชาติ โดยควรทำงานร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวกับการส่งเสริม SMEs ทั้งหลาย ทำให้ SMEs ไทยเชื่อมโยงกับเครือข่ายการผลิตและการบริการข้ามชาติมากยิ่งขึ้น

การปรับและปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจเกิดยากหากมีปัญหาข้อจำกัดภาครัฐ ยกตัวอย่างหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการสื่อสารโทรคมนาคมอย่าง กสทช.มีความขัดแย้งในระดับนโยบายและระดับบริหาร ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีความล่าช้าในการแต่งตั้งบอร์ดและผู้ว่า กฟผ. และฐานะทางการเงินของ กฟผ.ย่ำแย่ลงจากหนี้คงค้างจากรัฐบาลและแบกรับค่าเอฟที หลายรัฐวิสาหกิจไม่สามารถหาผู้บริหารมาทำงานได้ หน่วยงานของรัฐ ระบบยุติธรรมและกระบวนการยุติธรรม มีปัญหาความขัดแย้ง มีการฟ้องกันไปมา ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ความมีหลายมาตรฐานของระบบศาลรัฐธรรมนูญและศาลยุติธรรมทำให้ขาดความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน นักลงทุนและผู้ประกอบการ ทั้งหมดนี้ทำให้การปรับโครงสร้างและปฏิรูปเศรษฐกิจทำได้ยาก การปฏิรูปกิจการภาครัฐและการปรับโครงสร้างระบบองค์กรรัฐเพื่อให้เกิดการทำงานเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน เพิ่มความโปร่งใสและระบบธรรมาภิบาลเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เมื่อไม่สามารถปรับโครงสร้างองค์กรภาครัฐและเศรษฐกิจได้ ไทยก็ต้องเผชิญความถดถอยของความสามารถในการแข่งขันต่อไป ติดกับดักการเติบโตต่ำไปอีกนาน และมีความยากลำบากมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความไม่เป็นธรรมทั้งหลาย

ขณะที่มีความเสี่ยงทางการเมืองเพิ่มขึ้นจากปัญหาการใช้อำนาจของสถาบันทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 หากมีการยุบพรรคก้าวไกล หรือตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองอย่างไม่เป็นธรรม ประเทศไทยอาจเข้าสู่วังวนของความขัดแย้งและวิกฤตการณ์ทางการเมืองรอบใหม่ได้ องค์กรรัฐจะถูกตั้งคำถามมากขึ้นจากนักลงทุนต่างชาติในเรื่องระบบนิติรัฐนิติธรรม นักลงทุนต่างชาติอาจหวั่นไหวต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตยไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ