รื้อกฎหมายคุมโรงงานพลุทั่วประเทศ ป้องกันเหตุระเบิดซ้ำ

ข่าวทั่วไป Saturday February 10, 2024 11:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตนได้ติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาโรงงานพลุระเบิด ซึ่งได้หารือกับกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงมหาดไทย เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว โดยขณะนี้ ได้รับรายงานว่า โรงงานพลุ ที่มีแรงงานต่ำกว่า 50 แรงม้า เหลือจำนวน 9 ราย ส่วนโรงงานพลุ ที่มีมากกว่า 50 แรงม้าขึ้นไป จากเดิมมี 8 โรงงาน ปัจจุบันเหลือ 6 โรงงาน ซึ่งเป็นไปตามข้อกฎหมาย 4 โรงงาน และอีก 2 โรงงาน ให้ไปปรับปรุง ส่วนโรงงานพลุ ที่ไม่ต้องขออนุญาต จากเดิมมี 42 โรงงาน แต่ขณะนี้ พบว่า เหลือประกอบกิจการอยู่เพียง 8 แห่ง

ส่วนการปรับแก้ประกาศ 5 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน ได้มีการปรับแก้ทั้งหมด 21 ประเด็น เพื่อเพิ่มการควบคุมให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น เช่น

1.สถานที่ผลิตดอกไม้เพลิง ต้องจัดอยู่ในผังเมืองที่กำหนดไว้ให้

2.จัดให้มีสายล่อฟ้า

3.ห้ามสูบบุหรี่

4.การใช้ความร้อนในการซ่อมแซมโรงงาน ต้องมีแผนให้เจ้าหน้าที่วิชาชีพความปลอดภัยรับรองแผนก่อนการซ่อม

5.ยกเลิกใบอนุญาตโรงงาน กับผู้ประกอบการที่ไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขของประกาศ 5 กระทรวง

6. ให้มีเขตกันชน ระหว่างโรงงาน กับพื้นที่โดยรอบ เช่น กำแพง คูน้ำ คันดิน

7.ต้องมีประชาพิจารณ์

8.เมื่อมีการขออนุญาต ต้องตรวจพร้อมกัน 5 กระทรวง

9.ห้ามเคลื่อนย้ายด้วยการลากถู หรือ กระแทก เพราะอาจเกิดการเสียดสี

10.ต้องมีแผนการขนส่ง ตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง โดยท้องที่ต้องรับทราบ เพื่อทำให้เกิดการป้องกัน

นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุง พ.ร.บ.โรงงาน ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมีการร่างฉบับปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ระหว่างการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีการปรับแก้ในมาตรา 5/1 ในกรณีมีความจำเป็นเพื่อความปลอดภัยและป้องกันความเสียหาย รัฐมนตรี มีอำนาจออกกฎกระทรวง ให้โรงงานที่ใช้เครื่องจักรตั้งแต่ 5-50 แรงม้า หรือ 7-50 คน ถูกนิยามเป็นโรงงานจำพวกที่ 3 จากเดิมต้อง 50 แรงม้าขึ้นไปถึงถูกนิยามว่าเป็นโรงงาน ซึ่งหมายถึงปรับลดจำนวนแรงม้าลงมา เพื่อให้ควบคุมโรงงานพลุ ที่มีจำนวนแรงม้าเล็กน้อยได้ จะทำให้โรงงานพลุ ต้องขออนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการตรวจสอบความปลอดภัย ส่วนข้อเสนอการทำประกันภัยให้กับพนักงาน ก็ได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในเบื้องต้น โดยยังต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงการคลัง ไปหารือกับทั้งประกันภัย และผู้ประกอบการ ในรายละเอียดต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ