ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการโครงการผลิตแพทย์ฯ พร้อมอนุมัติรายการผูกพันข้ามปีงบประมาณที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปสำหรับโครงการผลิตแพทย์ฯ ในช่วงปี 2568-2577 จำนวน 37,234.48 ล้านบาท โดยตั้งเป้าลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ให้ใกล้เคียงมาตรฐานสากล
"ปัจจุบันเรามีแพทย์ 6.8 หมื่นคน เฉลี่ย 1 คนต้องดูแลคนไข้ 1,000 คน ขณะที่ตามเกณฑ์มาตรฐานกำหนดไว้ที่แพทย์ 1 คนต่อคนไข้ 333 คน ดังนั้นต้องเร่งผลิตแพทย์เพิ่มให้ได้ 1 แสนคน เพื่อลดภาระการดูแลเหลือ 1 คนต่อคนไข้ 650 คน เป็นแพทย์ที่มาดูแลบริการขั้นพื้นฐาน เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ตัวร้อน" นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ (Primary care service) ซึ่งเป็นระบบบริการสุขภาพด่านแรกของระบบบริการสาธารณสุขเพื่อดูแลสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และสหวิชาชีพ รวม 9 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ พยาบาล นักวิชาการสาธารณ์สุข ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยสาธารณสุข ทันตแพทย์ เภสัชกร นักฉุกเฉินการแพทย์ และแพทย์แผนไทย
โดยมีเวลาดำเนินการ 10 ปี ระหว่างปีการศึกษา 2568-2577 ซึ่งเมื่อครบกำหนดแล้วจะสามารถผลิตบุคลากรทางการแพทย์ได้ 62,000 คน โดยกรอบวงเงินงบประมาณที่ใช้ในโครงการดังกล่าวใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568-2583 ซึ่งคาดว่า (1) บุคลากรทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขสามารถพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิของประเทศตามแนวคิดเวชศาสตร์ครอบครัว (2) บุคลากรของสถาบันพระบรมราชชนกและหน่วยงานเครือข่ายใน สธ.ได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะตอบสนองความต้องการการผลิตบุคลากรตามแนวคิดเวชศาสตร์ครอบครัว และ (3) กระจายโอกาสทางการศึกษาทางการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุขไปสู่ประชาชนในส่วนภูมิภาค