เป็นที่ทราบกันว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานที่กำกับและดูแลผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลรวมถึง ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Exchange) ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 โดยมีหน้าที่ตรวจสอบการกระทำความผิดและลงโทษผู้ที่กระทำความผิดพร้อมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดและการลงโทษผู้กระทำความผิดนั้น ๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนหรือคุ้มครองผู้ลงทุน จึงน่าสนใจว่าตลอดระยะเวลาที่กฎหมายดังกล่าวถูกบังคับใช้ ก.ล.ต. ในฐานะผู้ใช้อำนาจตามกฎหมาย มีการลงโทษ Exchange ที่ประกอบกิจการแล้วหรือไม่ อย่างไร
จากการตรวจสอบพบว่าในปัจจุบันนี้มี Exchange ได้รับใบอนุประกอบกิจการและเริ่มประกอบกิจการจำนวน 9 ราย โดยบางรายไม่เคยได้รับการลงโทษจาก ก.ล.ต. เลย และบางรายพบประวัติการถูกลงโทษหลายครั้งหลายกระทง ดังนี้
*บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด (Zipmex)
พบประวัติการลงโทษด้วยกันทั้งสิ้น 6 ครั้ง ด้วยสาเหตุประกอบกิจการอื่นนอกเหนือจากการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ไม่จัดโครงสร้างการบริหารจัดการและระบบงาน รวมทั้งไม่จัดให้มีบุคลากรในจำนวนที่เพียงพอตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด ไม่รายงานสรุปการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจประจำปี 2565 ภายในกำหนดระยะเวลาตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด ไม่จัดให้มีนโยบาย มาตรการ และวิธีปฏิบัติในการมอบหมายให้บุคคลอื่นเป็นผู้รับดำเนินการในงานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล อันเป็นการปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด
และเป็นผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลและนายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ที่มีหน้าที่ต้องรายงานผลการการทดสอบการเจาะระบบ (Penetration Test) แต่รายงานล่าช้าและไม่เป็นไปตามที่ ก.ล.ต. กำหนด รวมถึงจัดเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าในโครงการรับฝากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรับผลตอบแทนในประเทศไทย ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด ซึ่งไม่สามารถแยกทรัพย์สินในการดูแลรักษาอันเป็นเหตุให้สงสัยอาจมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้เพื่อการอื่น
*บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (BITKUB)
พบประวัติการลงโทษด้วยกันทั้งสิ้น 2 ครั้ง ด้วยสาเหตุเดียวกันคือ ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) ดูแลสภาพคล่องในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล BITKUB ทำการส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีระหว่างกันเองในศูนย์ซื้อขาย BITKUB อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล
*บริษัท ออร์บิกซ์ เทรด จำกัด (Orbixtrade หรือ Satang Pro เดิม)
พบประวัติการลงโทษด้วยกันทั้งสิ้น 4 ครั้ง ด้วยสาเหตุที่ บริษัทฯ ดำเนินการเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ประกาศกำหนด และส่งคำสั่งจับคู่ซื้อขายเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีระหว่างกันเองในศูนย์ซื้อขาย Satang Pro อันเป็นการทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับปริมาณการซื้อหรือขายสินทรัพย์ดิจิทัล
และอีก 6 Exchange ที่ยังไม่มีประวัติการลงโทษจาก ก.ล.ต. คือ บริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด, บริษัท ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไทย จำกัด, บริษัท จีเอ็มโอ-แซด.คอม คริปโทนอมิคซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อัพบิต เอ็กซ์เชนจ์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด และบริษัท หลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด
นับเป็นเวลาเกือบ 7 ปีที่ประเทศไทยบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลโดยมี ก.ล.ต. เป็นผู้กำกับดูแลหลัก การตรวจสอบดูแล Exchange จนถึงขึ้นลงโทษซึ่งเป็นการตรวจสอบเพื่อยับยั้งการป้องกันการกระทำความผิดตามข้อมูลดังกล่าว ดังนั้นแล้ว ก.ล.ต. จะสอบผ่านหรือปฏิบัติหน้าที่เป็นที่น่าพอใจหรือไม่ ประชาชนผู้ต้องได้รับการปกป้องจาก ก.ล.ต. จะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินต่อไป
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)