นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบกลาง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 และการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ โดยขอให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ไปปรับเกณฑ์และหวังผลที่สูงขึ้นให้มีความทะเยอทะยานและลดปัญหาไฟป่าให้น้อยลง และมีการรายงานผลทุกๆ 4 ชั่วโมง รวมถึงนำข้อมูลจุดความร้อนในอดีต มาเทียบเคียงเพื่อป้องกันและจัดทีมระงับไฟได้อย่างรวดเร็ว
ด้าน น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในรายละเอียดว่า ครม. มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ไปพลางก่อน งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รวมทั้งสิ้น 272.65 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ของกรมป่าไม้ เป็นเงิน 109.94 ล้านบาท และของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นเงิน 162.70 ล้านบาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
ทั้งนี้ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ประสบปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศ โดยทั่วไปไฟป่าที่เกิดในประเทศ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง จนได้กำหนดให้การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ โดยพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางของประเทศที่มีประชาชนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ โดยมีแหล่งกำเนิดและกิจกรรมในพื้นที่ที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ได้แก่ ไฟป่า การเผาในพื้นที่เกษตร หมอกควันข้ามแดน การจราจรและขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม ประกอบกับสภาพอุตุนิยมวิทยาในช่วงต้นปีที่ความกดอากาศสูงแผ่มาปกคลุมประเทศไทย ทำให้อากาศปิด ลมสงบ ฝุ่นละอองไม่ฟุ้งกระจาย และสะสมในพื้นที่จนเกินมาตรฐาน
รองโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า การดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อลดฝุ่นละออก PM2.5 โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เป็นการยกระดับในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และพื้นที่ที่มีจุดความร้อน และความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่า ในช่วงเดือนม.ค.-พ.ค.67 ซึ่งเป็นช่วงที่มักเกิดไฟป่ารุนแรง
โดยการจัดจ้างประชาชนในพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นในจุดที่มีความเสี่ยง ทำให้สามารถตรวจพบเหตุไฟป่าได้ทันท่วงที และควบคุมไฟป่าได้อย่างรวดเร็ว ไฟไม่ขยายวงกว้าง เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาไฟป่าในช่วงระยะเวลาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภัยแล้ง ลดความรุนแรงและผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน
"นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับ KPI เชิงรุกแบบหวังผล ให้ลดไฟป่า 50% ขึ้นไป ให้ดูแลป้องกันไม่ให้มีการทุจริต ให้นำข้อมูลดาวเทียม และจุด Hot Spot มาใช้ และรวมถึงการจัดทีมระงับไฟป่าดูแลอย่างใกล้ชิด" น.ส.เกณิกา ระบุ