กสทช.ประกาศผลสำเร็จทดสอบ "ระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ" มั่นใจได้ใช้ก่อนสิ้นปีนี้!!

ข่าวทั่วไป Tuesday March 5, 2024 15:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กสทช.ประกาศผลสำเร็จทดสอบ

นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมด้วย นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส เปิดเผย ความสำเร็จการพัฒนาระบบเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ผ่าน Cell Broadcast Service พร้อมสาธิตการใช้งานระบบเตือนภัย

ประธาน กสทช. กล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และเหตุการณ์รุนแรงไม่คาดคิด เช่น เหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก กสทช. จึงทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยจากภาครัฐแบบเจาะจงพื้นที่ (Cell Broadcast Service) โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO)

กสทช.ประกาศผลสำเร็จทดสอบ

ระบบแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจงพื้นที่ดังกล่าว จะเป็นการส่งข้อความเตือนภัยตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกเครื่องในบริเวณนั้น แตกต่างจากระบบ SMS ทั่วไป เนื่องจากะไม่ได้ใช้หมายเลขโทรศัพท์ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารข้อมูลเตือนภัยทำได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทั้งพื้นที่เกิดเหตุ โดยประชาชนไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันใดๆ

"การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัย Cell Broadcast Service กสทช.เริ่มต้นกับ AIS ในวันนี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และพร้อมที่จะเชื่อมต่อกับศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ (Command Center) เพื่อเป็นเครื่องมือหรือช่องทางในการเตือนภัยได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยมีระบบเตือนภัยได้มาตรฐานสากลสร้างความอุ่นใจให้แก่ประชาชน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และความปลอดภัยทางสังคมให้กับประเทศต่อไป" ประธาน กสทช. กล่าว

นพ.สรณ กล่าวว่า หลังจากนี้เมื่อผ่านบอร์ด กสทช. และออกประกาศให้โอเปอเรเตอร์ทุกรายที่จะเข้ามามีส่วนร่วมสร้างระบบเตือนภัย ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีรองรับการแจ้งเตือนภัย ก็จะนำหารือกับรัฐบาลเพื่อกำหนดว่าเหตุการณ์ใดจะต้องแจ้งเตือนภัย รวมถึงแผนรองรับหากเกิดภัยพิบัติ หรืออาชญากรรม โดยต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบใดในการแจ้งเตือนภัย

เบื้องต้นหน่วยงานรับผิดชอบจะเป็น 2 หน่วยงาน คือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่จะดูแลเกี่ยวกับการแจ้งเตือนภัยพิบัติ ส่วนกระทรวงดีอี รับไปหารือกับรัฐบาลว่าหน่วยงานใดจะรับผิดชอบในการแจ้งเตือนภัยอาชญากรรม ซึ่งอาจมีหลายหน่วยงานในการแจ้งเตือน อาทิ กทม.เป็นต้น โดยมีกระทรวงดีอีจะเป็นแม่งานร่างระเบียบและประกาศกระทรวง หรือ พ.ร.ก.ฯ เสนอคณะรัฐมนตรี โดยมีกรอบระยะเวลาประมาณ 3 เดือนที่คาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจน และเริ่มใช้งานระบบดังกล่าวได้ก่อนสิ้นปี 67 ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการ

นายพชร นริพทะพันธุ์ ที่ปรึกษาประจำประธาน กสทช. กล่าวเสริมว่า กสทช.มีความพร้อมบริหารจัดการโอเปอเรเตอร์ ซึ่งได้บรรจุเรื่องนี้เข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช.แล้ว เพื่อพิจารณากรอบลงทุนของโอเปอเรเตอร์ และที่มาของงบประมาณ ขณะเดียวกันทางกระทรวงดีอี ก็ได้ขอรับการสนับสนุนการดำเนินการประมาณ 400 ล้านบาทมายัง กสทช.แล้ว ส่วนโอเปอเรเตอร์แต่ละค่ายมีข้อเสนอสนับสนุนงบลงทุนประมาณ 360-600 ล้านบาท/ราย ซึ่ง กสทช.จะให้เงินสนับสนุนสำหรับการจัดซื้ออุปกรณ์ชุดแรกที่จะใช้ในช่วง 3 ปีโดยอาจจะนำเงินที่เอกชนต้องนำส่งเข้ากองทุน USO ไปใช้ในการนี้

ด้าน นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวเพิ่มเติมว่า เราได้ร่วมกับภาครัฐคัดเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระบบเตือนภัยของประเทศตามมาตรฐานสากล คือ เทคโนโลยี Cell Broadcast Service ซึ่งเป็นระบบสื่อสารข้อความส่งตรงไปที่โทรศัพท์เคลื่อนที่ของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ เหมาะสมกับการนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ครอบคลุมของสถานีฐานบริเวณนั้น ๆ ในเวลาเดียวกัน ด้วยรูปแบบการแสดงข้อความ Pop UP Notification แบบ Near Real Time Triggering เพื่อให้สามารถรับรู้สถานการณ์ได้ทันที โดยล่าสุดได้ทดลองทดสอบแล้วได้ผลตามเป้าหมายที่ต้องการ และพร้อมที่จะขยายผลเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยของประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

โครงสร้างของการนำเทคโนโลยี Cell Broadcast Service มาใช้งานนั้น แบ่งเป็น 2 ฝั่ง

ฝั่งที่ 1 : ดำเนินการและดูแล โดย ศูนย์บัญชาการกลางของภาครัฐ ผ่านระบบ Cell Broadcast Entities (CBE) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการกำหนดเนื้อหาและพื้นที่ในการจัดส่งข้อความ ประกอบไปด้วยฟังก์ชั่นต่างๆ อาทิ การบริหารจัดการระบบ (Administrator), การจัดการข้อความที่จะสื่อสาร (Message Creator ) และ การอนุมัติยืนยันความถูกต้อง (Approver)

ฝั่งที่ 2 : ดำเนินการและดูแล โดย ผู้ให้บริการโครงข่าย ผ่านระบบ Cell Broadcast Center (CBC) ซึ่งเป็นระบบที่ทำหน้าที่นำเนื้อหาข้อความ ไปจัดส่งในสถานีฐานตามพื้นที่ที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง โดยจะประกอบไปด้วย การบริหารระบบและการตั้งค่า (System & Configuration), การส่งต่อข้อความสื่อสารที่ได้รับมาผ่านโครงข่าย (Message Deployment Function) และ การบริหารโครงข่ายสื่อสาร (Network Management)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ