นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ สปส.จะจ่ายเงินบำนาญชราภาพให้ผู้ประกันตนเป็นรายเดือนตลอดชีวิตนั้น ต้องมีเงื่อนไขเป็นผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบตั้งแต่ 180 เดือน (15 ปี) ขึ้นไป จึงจะได้รับเป็นเงินบำนาญชราภาพ (จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต) ในอัตรา 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และหากจ่ายเงินสมทบเกิน 180 เดือนจะได้รับเพิ่มอีก 1.5% ต่อระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
ตัวอย่างการคำนวณ หากผู้ประกันตนทำงานได้รับเงินค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาทมาตลอด และส่งเงินสมทบมาแล้ว 20 ปี เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์สามารถขอรับเงินบำนาญชราภาพได้ โดยมีวิธีคำนวณเงินบำนาญชราภาพ เป็น 2 ส่วน ดังนี้
- ส่วนที่ 1 ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน (15 ปี) จะได้อัตราเงินบำนาญ 20%
- ส่วนที่ 2 และในปีที่ 16-20 (5 ปี) จะได้รับอัตราเงินบำนาญเพิ่มอีก 1.5% ต่อปี
รวมอัตราเงินบำนาญ 20 ปีจะได้ 20% + 7.5% = 27.5% ดังนั้นผู้ประกันตนจะได้รับเงินบำนาญรายเดือน = 27.5% ของ 15,000 บาท คือ 4,125 บาทต่อเดือนตลอดชีวิต
ในกรณีผู้ประกันตนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 5 ปี นับแต่เดือนที่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ ทายาทผู้มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามจำนวนเดือนที่เหลือ หลังจากผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน
"จะเห็นได้ว่าการจ่ายเงินสมทบรายเดือนกับกองทุนประกันสังคมนั้นมิได้สูญเปล่า เพราะนอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์ระหว่างการทำงานมากมายแล้ว เมื่อถึงวัยเกษียณก็ยังคงอุ่นใจได้ว่ามีเงินออมชราภาพไว้เป็นหลักประกัน" นายบุญสงค์ กล่าว