ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยให้เสนอที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งปัจจุบันมีผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว 5 ฉบับ รวมทั้งยังมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และ พ.ร.บ.แอลกอฮอล์ ที่บังคับใช้อยู่
ซึ่งที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ มีผลทั้งเชิงเศรษฐกิจ และศีลธรรม ขณะที่มีกฎหมายค้างอยู่ในสภาอยู่แล้ว และกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.แอลกอฮอล์
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่าการออก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควรให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงมอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีไปศึกษาประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งได้ข้อสรุปใน 8 ประเด็น คือ
1. เห็นควรยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติหรือไม่
2. ควรอนุญาตให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานประกอบที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม หรือสถานบริการ ใกล้เคียงกับสถานศึกษาหรือไม่
3. การอนุญาตให้ขายหรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในกิจกรรมที่จัดไว้เป็นสถานที่ทางราชการที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมควบคุมโรคเพิ่มเติมไว้ จากที่จัดไว้ในร้านค้าสโมสร
4. เรื่องของการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจในการกำหนดวันและเวลา ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันกำหนดให้เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาการ ควรจะเปลี่ยนเป็น รมว.สาธารณสุขหรือไม่ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5. การกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการอนุญาตให้ทำโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การทำการตลาดออนไลน์เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
6. กรณีผู้ผลิตแอลกอฮอล์ เป็นผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ
7. กำหนดรายละเอียดบนฉลากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยไม่ต้องมีข้อความลักษณะเชิญชวนบริโภค
8. การยกเลิกการควบคุมวิธีการ หรือลักษณะการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตามมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551
นายคารม กล่าวว่า ครม.มีความเห็นว่าเรื่องนี้มีความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งในส่วนของประชาชนที่สุดโต่ง และ สส.บางคนที่ส่งเสริมในเชิงเศรษฐกิจเกินไป ซึ่งล่าสุดร่าง พ.ร.บ.แก้ไขควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของกระทรวงสาธารณสุขที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจแล้ว และที่ประชุม ครม.ส่งให้สภาเพื่อพิจารณาต่อไป
"เพื่อให้เกิดความชัดเจน และมีการถกเถียงอย่างเหมาะสม และให้ตัวแทนประชาชนเป็นคนตัดสินว่าในมิติต่างๆ ควรใช้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใดเป็นกฏหมายที่เหมาะสมที่สุด จึงควรให้สภาพิจารณาร่างกฏหมายฉบับนี้" นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว