Power of The Act: กฎหมายไทยสามารถรองรับเมืองที่จำหน่ายไฟฟ้าสะอาด 100% ได้หรือไม่

ข่าวทั่วไป Wednesday March 13, 2024 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เมืองแลงคาสเตอร์ (Lancaster) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นเมืองที่ประกาศตัวว่า "สามารถผลิตพลังงานสะอาดได้มากกว่าที่มีการใช้" โดยเมืองแลงคาสเตอร์ลงมือเป็นผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า (LCE) ในฐานะผู้จัดหาพลังงาน (Power Provider) ให้กับผู้ใช้พลังงานที่ทำงาน หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ของเมืองโดยเฉพาะ ภายใต้โครงการ Lancaster Energy (LE) ซึ่งเป็นโครงการที่ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในเมืองมี "ทางเลือก" ที่จะได้รับประโยชน์จากการผลิตและซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้ จากการศึกษาโมเดลข้างต้น

ผู้เขียนจึงตั้งคำถามว่าประเทศไทยจะสามารถมีและพัฒนา "เมืองที่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าสะอาดได้ 100%" ในฐานะที่บริการพลังงาน "ทางเลือก" ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องการไฟฟ้าสะอาด 100% เพื่อสนับสนุนเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนและเป้าหมายการใช้พลังงานสะอาดได้หรือไม่

บทความนี้จะเริ่มด้วยการอธิบายถึงรูปแบบและลักษณะหรือโมเดลพลังงานสะอาดของเมืองแลงคาสเตอร์ และจะเสนอบทวิเคราะห์ทางกฎหมายของประเทศไทยผ่านการดำเนินโครงการในพื้นที่เขตพัฒนาภาคตะวันออก (EEC)

*ขายไฟฟ้าสะอาดได้โดยไม่ต้องมีระบบโครงข่ายไฟฟ้าเป็นของตัวเอง

LCE เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร (Not-for-Profit Entity) ซึ่งให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าในฐานะบริการในท้องถื่น (Municipal Service) โดยเป็นบริการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งเป็นบริการทางเลือกนอกเหนือจากการจำหน่ายไฟฟ้าโดยผู้ประกอบกิจการค้าปลีกไฟฟ้าที่มีระบบโครงข่ายไฟฟ้าของตัวเองชื่อ Southern California Edison (SCE) ปัจจัยที่ทำให้การประกอบกิจการของ LCE "ขายของได้" ก็คือราคาไฟฟ้าที่จำหน่ายต่ำกว่าราคาค้าปลีกไฟฟ้าของ SCE

SCE เป็นบริษัทเอกชนในเครือของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก ชื่อ Edison International โดยที่ SCE เป็นเจ้าของระบบส่งไฟฟ้าความยาว 125,000 ไมล์ และเป็นเจ้าของระบบจำหน่ายไฟฟ้าความยาว 91,375 ไมล์ ให้บริการส่งไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า 15 ล้านคน ครอบคลุมพื้นที่ 50,000 ตารางไมล์ในพื้นที่ตอนกลาง พื้นที่ชายฝั่ง และตอนใต้ของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (ยกเว้นเมืองลอสแอนเจลิส) ซึ่งรวมถึงเมืองแลงคาสเตอร์ด้วย (ข้อมูลจาก SCE เผยพร่ ค.ศ. 2024)

ขณะที่ LCE เป็นผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าที่ไม่ได้มีระบบโครงข่ายไฟฟ้าเป็นของตัวเอง แต่จะประกอบกิจการโดย "เสาะแสวงหา" พลังงานสะอาดในราคาต่ำที่สุดมานำมาขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในเมืองแลงคาสเตอร์ และเพื่อให้การส่งไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นไปได้ LCE ได้ทำความร่วมมือกับ SCE ให้ SCE เป็นผู้นำไฟฟ้าไปส่งมอบให้กับลูกค้าของ LCE ผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของตน ในฐานะเจ้าของและผู้ให้บริการระบบโครงข่ายไฟฟ้า SCE จะยังคงทำหน้าที่บำรุงรักษาระบบโครงข่าย จัดการแก้ไขปัญหาไฟตกไฟดับ และเป็นผู้ออกบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งเป็นลูกค้าของ LCE ตามเดิม

จะเห็นได้ว่า LCE และ SCE ต่างประกอบกิจการพลังงานกันคนละส่วนกัน (หรืออาจจะเรียกได้ว่าอยู่กันคนละตลาด) LCE ทำหน้าที่จัดหาไฟฟ้าและขายไฟฟ้าดังกล่าว (เช่น ทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน) ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า ส่วน SCE นั้นอยู่ในตลาดระบบโครงข่ายและทำหน้าที่เป็นผู้ส่งไฟฟ้าไปให้ถึงผู้ใช้ไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของตน

*ทางเลือกของผู้ใช้ไฟฟ้า

ผู้ที่อยู่อาศัยในเมืองนี้สามารถเลือกที่จะเข้าร่วม LE ในส่วน "Personal Choice" โดยผลิตและจ่ายไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ส่วนที่เกินจากการใช้เองเข้าระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ SCE และจะได้รับเครดิตพลังงาน (Energy Credit)

กระบวนการออกเครดิตพลังงานนั้นจะดำเนินการโดย LCE โดยทุก ๆ สิ้นเดือน LCE จะตรวจนับปริมาณไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้าในเมืองได้ใช้และปริมาณไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนที่ถูกผลิตและจ่ายเข้าระบบโครงข่ายโดยผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าว หากปริมาณการใช้มากกว่าปริมาณการผลิต ผู้ใช้จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้า แต่หากปรากฏว่าผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถผลิตได้มากกว่าปริมาณที่ใช้ ผู้ใช้ไฟฟ้าดังกล่าวจะได้รับเครดิต และทุก ๆ เดือนตุลาคม LCE จะทำการตรวจวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้า ซึ่งถ้าผู้ใช้ไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าปริมาณที่ใช้ ผู้ใช้รายนี้จะได้เงินคืน (Rebate) ในอัตตรา 0.06 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง

นอกจากนี้ เมืองแลงคาสเตอร์ ยังเสนอบริการพลังงานสะอาดหลายรูปแบบตามความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้าในส่วน "Smart Choice" เป็นโปรแกรมการจัดหาไฟฟ้าสะอาดในราคาที่ตั้งขึ้นบนพื้นฐานของการแข่งขัน โดย LE ในฐานะผู้ให้บริการให้คำมั่นสัญญาว่าจะจัดหาพลังงานไฟฟ้าสะอาดเช่นที่ผลิตจากพลังงานลมในราคาที่สมเหตุสมผลมาขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่เลือก Smart Choice โดย LE ได้อธิบายว่าลูกค้ากลุ่ม Smart Choice ที่อยู่ในภาครัวเรือนจะจ่ายค่าไฟฟ้าสูงกว่าปกติราว 10 ดอลลาร์ในอัตราคงที่ ส่วนลูกค้ากลุ่ม Smart Choice ที่มิได้อยู่ในภาครัวเรือนจะจ่ายค่าไฟฟ้าสูงกว่าปกติ 1.5 เซนต์ต่อกิโลวัตต์/ชั่วโมง

*ผลตอบรับที่ดีจากผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบธุรกิจในเมือง

เมืองแลงคาสเตอร์เปิดโอกาสให้องค์กรธุรกิจ องค์กรไม่แสวงหากำไร และหน่วยงานของรัฐที่เลือกจะซื้อไฟฟ้าที่ผลิตพลังงานหมุนเวียน 100% เพื่อหักกลบ (Offset) กับมลพิษหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานของตน และกลายเป็น "Smart Choice Champions"

ในปัจจุบันผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับการพิจารณาให้เป็น Smart Choice Champion ในเมืองแลงคาสเตอร์นั้นมีทั้งศูนย์จำหน่ายรถยนต์ (ซึ่งให้คำอธิบายว่าบริษัทได้ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่การผลิตไฟฟ้าสะอาดด้วยตัวเองนั้นมีปริมาณไม่เพียงพอที่จะทำให้บริษัทสามารถบรรลุความต้องการใช้พลังงานจากพลังงานหมุนเวียน 100% แต่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวเกิดได้จากการที่เมืองมีโครงการ Smart Choice) โรงเรียนมัธยม หน่วยงานควบคุมคุณภาพอากาศของรัฐ บริษัทที่ให้บริการด้านการวางแผน ออกแบบ และสถาปนิก

นอกจากนี้ยังปรากฏผลตอบรับในแง่บวกจากเจ้าของธุรกิจยิมซึ่งให้บริการสถานออกกำลังกายในเมือง ได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า "ยิมของเราเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ดังนั้น ยิมของเราจึงใช้พลังงานปริมาณมาก แต่การที่เราเป็นลูกค้าของเมือง (ภายใต้โครงการ LE) เราได้ประหยัดค่าไฟฟ้า โดยเมืองแลงคาสเตอร์สามารถจำหน่ายไฟฟ้าในอัตราที่เสถียรภาพและเป็นอัตราที่คาดหมายได้ นอกจากนี้ เรายังรู้สึกดีที่เจ้าหน้าที่ของเมืองนั้นตอบคำถามเกี่ยวกับอัตราค่าบริการไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้ามีอยู่เสมอ"

*เรามีเมืองแบบนี้ในประเทศไทยได้หรือไม่ ?

ผู้เขียนเห็นว่าประเทศไทยก็สามารถ "มี" เมืองพลังงานสะอาดที่คล้ายกับเมืองแลงคาสเตอร์ได้ และมีความเห็นว่าระบบกฎหมายไทยนั้น "มีความพร้อม" หรือ "อย่างน้อยก็ไม่มีข้อจำกัดทางกฎหมาย" ที่จะรองรับการเกิดขึ้นและพัฒนาของเมืองที่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าสะอาดได้ 100%

โดยผู้เขียนขอทำการ "ทดลอง"เพื่อสนับสนุนความเห็นข้างต้นผ่านการพัฒนาโดยหน่วยงานของรัฐ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 พื้นที่ EEC ควรถูกพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเป็นพื้นที่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ

ในความเห็นของผู้เขียน การทำให้พื้นที่ EEC เป็นเมืองที่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าสะอาดได้ 100% ดังเช่นเมืองแลงคาสเตอร์ โดยเป็นเมืองที่มีศักยภาพที่จะให้ "ทางเลือก" ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น องค์กรธุรกิจที่มีเป้าหมายในการใช้พลังงานจากทรัพยากรหมุนเวียน 100% ซึ่งประสงค์จะจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่าค่าไฟฟ้าปกติได้ เป็นการพัฒนาพื้นที่ EEC ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และยังสนับสนุนการหยั่งรากของแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยททางพลังงานอีกด้วย

หากเทียบกับโมเดลของเมืองแลงคาสเตอร์แล้ว สกพอ. อาจมีบทบาทที่เทียบเคียงได้กับบทบาทของ LCE (ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร) ได้ โดย สกพอ. มีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 15(8) และ (9) แห่งพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ในการลงทุนหรือร่วมลงทุนกับบุคคลอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อการประกอบกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ และตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ

ข้อกฎหมายเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า สกพอ. นั้นไม่เป็นเพียงหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และมิได้เป็นเพียงองค์กรกำกับดูแล (Regulator) หากแต่สามารถลงมือประกอบกิจการอันเป็นประโยชน์กับการพัฒนาพื้นที่ EEC ได้อีกด้วย โดยอาจตั้งบริษัทขึ้นใหม่เองหรือร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในการให้บริการพลังงานสะอาดทำนองเดียวกับ LCE ได้

การให้บริการพลังงานสะอาดโดย สกพอ. นั้นสามารถดำเนินการโดยผ่านตัวผู้ประกอบการที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในเมืองซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ EEC ในทำนองเดียวกับโปรแกรม Smart Choice ของเมืองแลงคาสเตอร์ กล่าวคือไม่ได้บังคับให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทุกรายในพื้นที่ EEC (ซึ่งบางรายยังไม่มีเป้าหมายในเรื่องการใช้พลังงานสะอาด 100%) ต้องซื้อไฟฟ้าสะอาด 100% แต่เป็น "บริการจำหน่ายไฟฟ้าทางเลือก" ควบคู่ไปกับการจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟภ. ซึ่งเป็นผู้จำหน่ายไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าของตน โดยผู้จำหน่ายไฟฟ้าที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดย สกพอ. นั้นสามารถขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการจำหน่ายไฟฟ้าจาก กกพ. ได้ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550

*กฟภ. ทำหน้าที่แบบ SCE ได้หรือไม่ ?

ผู้จำหน่ายไฟฟ้าสะอาดของ สกพอ. สามารถทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรงกับผู้ใช้ไฟฟ้าในมืองพลังงานสะอาดในพื้นที่ EEC โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าเอง หากแต่สามารถอาศัยระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ กฟภ. เป็นเจ้าของ ซึ่ง กฟภ. มีหน้าที่ตามมาตรา 81 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่นใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานของตน

ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานประกาศกำหนด กล่าวได้ว่า กฟภ. จะทำหน้าที่เหมือนกับ SCE ในกรณีนี้ กฟภ. จะยังคงทำหน้าที่บำรุงรักษาระบบโครงข่ายไฟฟ้าของตนและเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้าที่เลือกใช้ไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ทำกับผู้จำหน่ายไฟฟ้าสะอาดของ สกพอ.

การใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่รองรับการส่งไฟฟ้าสะอาดนั้นอาจก่อให้เกิดภาระกับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟภ. เช่น กฟภ. จะมีต้นทุนจากการต้องส่งผ่านไฟฟ้าตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เป็นลูกค้าของ สกพอ. มีภาระในการจัดสรรศักยภาพของระบบโครงข่ายให้กับผู้จำหน่ายไฟฟ้าสะอาดของ สกพอ. มีภาระและต้นทุนอันเกิดขึ้นจากการรักษาความสมดุลของระบบโครงข่ายตลอดจนการรักษาความมั่นคงของระบบโครงข่าย ต้นทุนเหล่านี้เป็นต้นทุนที่แท้จริงอันเกิดจากการให้บริการไฟฟ้าสะอาดที่มีการผลิตแบบกระจายศูนย์และย่อมสามารถถูกรวมเข้าไปกับราคาขายไฟฟ้าที่ผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งเลือกไฟฟ้าสะอาดจะต้องจ่ายโดยให้ กฟภ. เรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มนี้ได้

โดยสรุป บทบัญญัติในกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 นั้น สามารถถูกบังคับใช้ให้รองรับการจัดหาไฟฟ้าสะอาดเพื่อขายโดยตรงให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ประสงค์จะใช้ไฟฟ้าดังกล่าวได้ โดยเป็นการส่งไฟฟ้าผ่านระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่มีอยู่แล้ว เช่น ระบบจำหน่ายไฟฟ้าของ กฟภ. แม้ว่าการดำเนินการโครงการในทางปฏิบัตินั้นยังคงต้องอาศัยรายละเอียดและกฎหมายลำดับรองอีกหลายฉบับ

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนประสงค์จะชี้ให้เห็นว่าระบบกฎหมาย (พลังงาน) ของประเทศไทยนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมืองที่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าสะอาดได้ 100%

ผศ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law)

หลักสูตรนานาชาติ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย