นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมด้วยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง และนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง ตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารกรมศุลกากร โดยนายกรัฐมนตรี ระบุว่า กรมศุลกากร ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่ากรมศุลกากรมีปัญหาในเรื่องการทุจริตประพฤติไม่ชอบเป็นอันดับต้นๆ ในหน่วยงานราชการ สร้างความเสียหายอย่างมาก ถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ
รัฐบาลภายใต้การนำของตน ไม่สามารถยอมรับได้ และจะไม่ยอมให้เกิดการทุจริตขึ้น ดังนั้นจึงขอให้ทุกคนมีความกระตือรือร้น ทำงานโดยยึดหลักตามระเบียบ ข้อปฏิบัติ และที่สำคัญต้องทำงานให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จากนโยบายของรัฐบาล และการปฎิบัติตามมาตรการอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการสกัดกั้นสินค้าผิดกฎหมาย และสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะยางพารามีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น
นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายโดยเน้นย้ำให้กรมศุลกากรดำเนินการ ดังนี้
1. ลดการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้ดุลยพินิจ เรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ (CIC)
2. เรื่องทุจริตที่ผ่านมา ต้องตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง
3. Sealed border เพิ่มความเข้มงวดการลักลอบของเถื่อน และยาเสพติดตามแนวชายแดน
4. นโยบาย x-ray 100% เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจปล่อยสินค้า มีข้อมูลสำหรับการ post audit และลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการเรียกรับผลประโยชน์ (CIC)
5. NSW-single submission รีบนำมาใช้ให้เร็วที่สุด เป็นเรื่องที่สำคัญ กรมศุลกากรต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ หากมีปัญหาขอให้รายงานให้ตนทราบ และเร่งแก้ไขปัญหา
6. ด่านศุลกากร ไม่ต้องใหญ่มาก แต่เน้นการอำนวยความสะดวก และการผ่านพิธีการศุลกากรที่รวดเร็ว จะต้องไม่ทุจริต
7. การแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม ให้โอกาสผู้มีความรู้ความสามารถและอาวุโส ขอให้เลิกระบบวิ่งเต้นตำแหน่ง
"กรมศุลกากร วิ่งเต้นเยอะสุด ส่อให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่ได้รับ ผมไม่ยอมให้ใครวิ่งเต้น ขอให้หยุดวิ่งเต้น ไม่ว่าใคร บ้านไหน พรรคไหนขอให้หยุด เรื่องเกียรติเรื่องศักดิ์ศรีของข้าราชการเป็นเรื่องสำคัญ อย่าก้มหัวให้นักการเมือง ขอให้ทำงานตามหน้าที่ให้ดี อย่ากระเสือกกระสนวิ่งเต้นเรียนหลักสูตรพิเศษ เพื่อสร้างเครือข่ายนำไปแสวงหาผลประโยชน์" นายกรัฐมนตรี กล่าว
ด้านนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ตรวจเยี่ยมและให้นโยบายผู้บริหารและข้าราชการกรมทั้ง 45 ด่าน ใน 4 เรื่องที่สำคัญ ประกอบด้วย
1. เน้นดูแลเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน เนื่องจากกรมศุลกากรเป็นหน่วยงานที่ทำงานใกล้ชิดประชาชน จึงอยากให้กรมฯ ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เป็นศูนย์ทุกรูปแบบ เช่น การลดดุลยพินิจของพนักงาน และเพิ่มเทคโนโลยีเข้ามาในกระบวนการตรวจสอบ เพื่อเพิ่มความโปร่งใสมากขึ้น ส่วนกรณีทุจริตของกรมฯ ที่ผ่านมา ได้กำชับให้มีการเร่งรัดตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบผู้กระทำความผิด ก็ให้ดำเนินการตามกรนอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด
2. เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันของเถื่อน โดยที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีชื่นชมที่กรมฯ ได้สนองนโยบายรัฐบาลอย่างเข้มข้ม โดยเฉพาะการดูแลเรื่องสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ได้กำชับให้ทำต่อ และดูแลไม่ให้มีการลักลอบ ซึ่งกรมฯ ยืนยันว่าที่ผ่านมามีการเข้มงวดตรวจสอบตามระเบียบ ขณะเดียวกันได้มีการเพิ่มมาตรการป้องกันความเสี่ยงในการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าผ่านแดน และได้ออกแนวทางตรวจสอบเพิ่ม ทั้งการเอ็กซเรย์ต้นทาง-ปลายทาง การชั่งน้ำหนัก การติดตามผ่านระบบ GPS และหากจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี ก็พร้อมที่จะนำเข้ามาเสริม
3. นโยบาย X-Ray ตู้สินค้า นายกรัฐมนตรีต้องการให้มีการ X-Ray ตู้สินค้าให้ครบถ้วนทั้งหมด เพื่อลดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ในการเปิดตรวจและเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ ให้สามารถผ่านตู้สินค้าได้ทันที แต่หากมีความผิดปกติก็สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ แต่ก็ยอมรับว่าปัจจุบันการ X-Ray ตู้สินค้ายังมีข้อจำกัด ก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมเรื่องของต้นทุนกับข้อดี แต่ก็พร้อมที่จะรับนโยบายนายกรัฐมนตรี หากต้องมีการจัดซื้อเพิ่มเติมก็พร้อมจะดำเนินการ
4. เร่งรัดและพัฒนาระบบรับข้อมูลใบอนุญาต Single Submission ให้เร็วขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกบการให้สามารถเชื่อมโยงการขอออกใบอนุญาตที่ครบถ้วน รวดเร็ว
"มาตรการนี้ จะนำร่องสินค้าเกษตรใน 3 กลุ่ม 7 ชนิด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม และฟังก์ชัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ภายในเดือน ก.ย.นี้ รวมทั้งเร่งรัดมาตรการ One Stop Service ศูนย์บริการชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 8 แห่ง จะดูความเหมาะสม ว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงอะไรหรือไม่" นายธีรัชย์ กล่าว
อธิบดีกรมศุลกากร ยังกล่าวถึงภาพรวมการจัดเก็บรายได้ในช่วง 6 เดือนแรกปีงบ 2567 (ต.ค.66-มี.ค.67) ว่า สามารถจัดเก็บได้เกินกว่าเป้าหมาย 2% ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสภาวะการค้าโลก มั่นใจว่าปีนี้จะสามารถบริหารจัดการการจัดเก็บรายได้ให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ ส่วนการจัดเก็บภาษีใหม่ ๆ ขณะนี้ยังไม่มีนโยบาย