จากกรณีพบกากแร่แคดเมียม ที่โรงงานบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล อ.เมือง จ.สมุทรสาคร กว่า 15,000 ตัน ซึ่งเป็นสารปนเปื้อนอันตรายร้ายแรง บรรจุอยู่ในถุงบิ๊กแบ็คในโรงงานนั้น
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร (ปภ.สมุทรสาคร) ได้ประกาศห้ามมิให้ผู้ใดๆ เข้าไปอยู่อาศัย หรือดำเนินกิจการใด ในพื้นที่โรงงานบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 132 และ 136/2 หมู่ที่ 2 ซ.กองพนันพล ถ.เอกชัย ต.บางน้ำจืด อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร เป็นระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันประกาศนี้เป็นต้นไป
อย่างไรก็ดี ไม่ได้มีการประกาศภัยพิบัติฉุกเฉิน หรือประกาศพื้นที่ประสบสาธารณภัยในเขตพื้นที่ดังกล่าว
น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม ชี้แจงว่า จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวได้รับใบอนุญาตประกอบโลหะกรรมแร่สังกะสี และใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียม ผลิตโลหะสังกะสีแท่ง สังกะสีอัลลอย โลหะแคดเมียม และผลิตโลหะทองแดง ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ตาก ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบโลหะกรรม แต่ยังคงไว้ซึ่งใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน โดยได้ฝังกลบ (Landfill) กากแร่ ซึ่งอยู่ในรูปของโลหะผสมกับปูนซิเมนต์ และยึดเกาะกันเป็นเนื้อแน่นไว้ในบ่อเก็บกากแร่ ที่ปูพื้นและปิดทับด้วยวัสดุกันซึม (HDPE) และคอนกรีต ซึ่งเป็นไปตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม
โดยเมื่อเดือนก.ค.66 บริษัทได้ทำการขนย้ายกากแคดเมียม กากสังกะสี ออกจากโรงงานเพื่อนำกลับไปใช้ประโยชน์ โดยโรงงานในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งประกอบกิจการหลอมหล่ออลูมิเนียมแท่ง อลูมิเนียมเม็ดจากเศษอลูมิเนียม และตะกรันอลูมิเนียม (SCRAP AND DROSS) และได้เริ่มทำการขนย้ายกากที่บรรจุในถุงบิ๊กแบค ตั้งแต่เดือนส.ค.66 ถึงปัจจุบัน รวมประมาณ 13,450 ตัน
กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ได้ตรวจสอบโรงงานดังกล่าว พบว่า มีการดำเนินการที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จึงได้อายัดกากแคดเมียม กากสังกะสี และส่วนของอื่น ๆ ไว้เพื่อตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมายแล้ว
ส่วนบริษัทในพื้นที่ อ.เมือง จ.ตาก กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เพื่อเก็บตัวอย่างกากแคดเมียม กากสังกะสี ตรวจวิเคราะห์ และสั่งการให้บริษัทฯ หยุดประกอบกิจการในส่วนของนำกากแคดเมียม กากสังกะสี ออกนอกบริเวณโรงงาน และให้นำกลับมาดำเนินการให้เป็นตามมาตรการป้องกัน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำหนดไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานโดยเร่งด่วนต่อไป
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมทีมตรวจสอบพร้อมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ล่าสุด ได้รับรายงานจาก นพ.สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ว่า บริษัทดังกล่าว ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับการหล่อ และหลอมโลหะประเภทต่างๆ 3 โรงงาน
โดยโรงงานแห่งแรก พบกากแคดเมียมและกากสังกะสีในถุงบิ๊กแบ็กสีขาวในโรงงาน 1,300 ถุง และนอกโรงงานอีก 100 ถุง ส่วนแห่งที่ 2 ที่อยู่บริเวณเดียวกัน พบกากอลูมิเนียมอยู่ภายในโรงงาน และมีกากแคดเมียมและกากสังกะสีอยู่นอกโรงงาน 9 ถุง และแห่งที่ 3 พบกากแคดเมียมและกากสังกะสีอีก 227 ถุง อยู่ภายในโรงงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้เคลื่อนย้ายกากแคดเมียม และกากสังกะสีที่อยู่ภายนอกไปเก็บไว้ในโรงงานทั้งหมดแล้ว
โดยกรมควบคุมมลพิษ ตรวจสอบพบว่า กากแคดเมียม และกากสังกะสี มีการผสมด้วยปอร์ตแลนด์ซีเมนต์ 30% เพื่อทำลายฤทธิ์และอยู่ในสถานะแข็งตัว หากเก็บไว้ในสถานที่มิดชิด และไม่มีการชำระล้าง จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ในด้านการดูแลผลกระทบทางสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ได้ร่วมกับ รพ.สมุทรสาคร ตรวจคัดกรองสุขภาพของพนักงานในโรงงานจำนวน 11 ราย แบ่งเป็น คนไทย 8 ราย และต่างด้าว 3 ราย โดยซักประวัติตามแบบฟอร์มการสัมผัสสารโลหะหนักแคดเมียม ตรวจสัญญาณชีพเบื้องต้น ไม่พบความผิดปกติ แพทย์ได้ตรวจร่างกายและเก็บปัสสาวะส่งตรวจหาสารแคดเมียม ซึ่งจะทราบผลภายใน 1 สัปดาห์ และได้ให้บริษัทนัดหมายพนักงานที่เหลือ เข้ารับการตรวจสุขภาพกับโรงพยาบาลสมุทรสาครโดยเร็ว
นอกจากนี้ จะร่วมกับชุมชนในพื้นที่ เร่งค้นหาผู้ที่ได้รับผลกระทบในบริเวณสถานที่ข้างเคียงที่มีอาการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีดังกล่าว ขณะที่กรมควบคุมมลพิษ ได้ทำการเก็บตัวอย่างน้ำในโรงงาน และบริเวณโดยรอบ ส่งตรวจหาสารปนเปื้อนด้วย โดยจะทราบผลใน 2 สัปดาห์
แร่แคดเมียม หรือโลหะแคดเมียม ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมการผลิตเซลล์นิกเกิล-แคดเมียม หรือที่นำมาทำเป็นแบตเตอรี่ และถ่าน Ni-Cd หรือถ่านไฟฟ้า ทำสีในอุตสาหกรรมพลาสติก เซรามิก ทำโลหะผสม และใช้โลหะแคดเมียมเคลือบเหล็กกล้า ทองแดง และโลหะอื่นๆ เพื่อป้องกันการผุกร่อน รวมทั้งนำไปทำสารเคลือบผิวผลิตภัณฑ์ สีผง โลหะชุบ รวมทั้งเป็นส่วนประกอบในการผลิตพลาสติก
หากได้รับสารแคดเมียม โดยวิธีการสูดดมหรือรับประทาน จะมีการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีปวดศีรษะ กล้ามเนื้อ เสมหะเป็นเลือด หายใจลำบาก เมื่อสะสมในร่างกาย จะส่งผลให้การทำหน้าที่กรองของไตลดลง อีกทั้งยังส่งผลต่อระบบไหลเวียนของเลือด ระบบประสาท ความดันโลหิตสูง และเป็นสารที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้