สถานการณ์ฝุ่นและมลพิษในภาคเหนือ และอีสานยังน่าเป็นห่วง โดยล่าสุด มลพิษในจังหวัดเชียงใหม่ พุ่งสูงติดอันดับ 2 เมืองใหญ่ที่มีมลพิษมากสุดในโลก โดยเมื่อเวลา 11.57 น. มีค่า AQI อยู่ที่ 206 อยู่ในระดับสีม่วง (AQI = 201-300) หรือมีผลกระทบต่อทุกคนอย่างรุนแรง ด้านภาครัฐ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับฝุ่นสูงในช่วงนี้
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ออกประกาศจังหวัดเชียงใหม่ วานนี้ (8 เม.ย.) เรื่อง ข้อแนะนำแนวทางมาตรการป้องกันและลดผลกระทบกรณีฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) เกินค่ามาตรฐานต่อเนื่อง โดยระบุว่า จังหวัดเชียงใหม่ ได้ติดตามสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 4-8 เม.ย. 67 ตลอด 24 ชั่วโมง พบมีค่าเกินค่ามาตรฐาน (อยู่ระหว่าง 84.1-224.3 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมการป้องกัน และลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และนักท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จึงขอให้ปฏิบัติ ดังนี้
1. ให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่งนำระบบการทำงานที่บ้าน (Work from Home) มาใช้ โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน และใช้ช่องทางการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางในการปฏิบัติงาน
2. ขอความร่วมมือสถานบริการ สถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ ร้านอาหาร พิจารณาให้บริการห้องปรับอากาศเป็นอันดับแรก เพื่อลดผลกระทบจาก PM 2.5
3. ขอความร่วมมือให้บริษัท ห้างร้าน สถานประกอบการ พิจารณาอนุญาตให้พนักงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) หรือทำงานผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในส่วนที่ไม่กระทบต่อกิจการของบริษัทห้างร้าน สถานประกอบการ เพื่อลดการออกนอกเคหสถาน
4. ขอความร่วมมือประชาชน และนักท่องเที่ยว ปรับลดกิจกรรมนอกบ้าน ในช่วงเวลาที่ค่า PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน และหากมีความจำเป็นต้องออกนอกบ้าน ขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว สวมหน้ากากอนามัยป้องกัน PM 2.5 ทุกครั้ง
5. ขอความร่วมมือกลุ่มเปราะบาง (เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว) ลดหรืองดกิจกรรมนอกบ้าน
6. ให้หน่วยงานของรัฐ พิจารณาเปิดบริการห้องลดฝุ่นให้แก่ประชาชน
7. ให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ยังมีการเรียนการสอน และไม่มีห้องลดฝุ่น พิจารณาหยุดการเรียนการสอน
8. ให้หน่วยงานภาครัฐที่มีสวนสาธารณะในความดูแล พิจารณาปิดพื้นที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง
ทั้งนี้ ให้ดำเนินการเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-11 เม.ย. 67 และจังหวัดเชียงใหม่จะได้ติดตามสถานการณ์ และออกประกาศให้ประชาชนทราบ ในโอกาสต่อไป
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข (สธ.) ออกแถลงการณ์มาตรการดูแลด้านสาธารณสุข กรณีฝุ่น PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร วานนี้ (8 เม.ย.) โดยระบุว่า จากปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินมาตรการดูแลช่วยเหลือประชาชน ในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ดังนี้
1. ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่น PM 2.5 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์รายวัน เพื่อสื่อสารถึงประชาชนในการลดความเสี่ยงรับฝุ่น PM 2.5 และออกให้ความช่วยเหลือในพื้นที่
2. ทำการสำรวจกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบสูง ประกอบด้วย กลุ่มเด็ก (0-5 ปี) หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วย (โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังชนิดเฉียบพลัน โรคหอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด และผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง) เพื่อติดตามเยี่ยมบ้าน ให้คำแนะนำและเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพ
3. เปิดคลินิกมลพิษ/ คลินิกมลพิษออนไลน์ และจัดทำห้องปลอดฝุ่นในโรงพยาบาลทุกระดับ เพื่อให้ผู้ป่วยและกลุ่มเปราะบางได้เข้าใช้บริการ ลดความเสี่ยงการรับสัมผัสฝุ่น โดยขณะนี้ในจังหวัดเชียงใหม่มีห้องปลอดฝุ่นรวม 1,466 ห้อง (ภาครัฐ 1,408 ห้อง ภาคเอกชน 58 ห้อง) และยังมีห้องปลอดฝุ่นในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีก 416 แห่ง
4. จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกดูแลสุขภาพประชาชนเชิงรุก ให้ความรู้และสนับสนุนหน้ากากอนามัยในการป้องกันตนเอง โดยพื้นที่เชียงใหม่แจกหน้ากากไปแล้ว 153,557 ชิ้น และทุกอำเภอยังได้เตรียมการสำรองเวชภัณฑ์ยา/ หน้ากากป้องกันฝุ่นสำหรับผู้ป่วย เพื่อพร้อมให้การสนับสนุนทันที
5. ถ่ายทอดความรู้การจัดทำ "มุ้งสู้ฝุ่น' ซึ่งเป็นนวัตกรรมช่วยเพิ่มพื้นที่ปลอดฝุ่นภายในบ้าน และประสานงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการสนับสนุนมุ้งสู้ฝุ่นให้กับผู้ป่วยยากไร้ในทุกพื้นที่ โดยจังหวัดเชียงใหม่จะเร่งผลิตให้ได้ 300 หลัง ภายใน 2 สัปดาห์ ขณะที่จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 1 และ 2 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ จะเร่งผลิตเพิ่มเติมอีก 600 หลัง ภายใน2 สัปดาห์นี้เช่นกัน
6. กระทรวงสาธารณสุข จะร่วมกับราชวิทยาลัย และสมาคมวิชาชีพเวชกรรม กำหนดแนวทางการตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดให้กับประชาชนในพื้นที่ พร้อมนำกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจวินิจฉัย และรักษามะเร็งปอดในระยะเริ่มแรกก่อนโรคจะลุกลามต่อไป