นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้
1. อนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ภายในวงเงิน 235,842,800,900 บาท ประกอบด้วย
1.1. ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งขาติ จำนวน 47,157,000 คน วงเงิน 181,297,444,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 15,772,291,400 บาท คิดเป็น 9.53% คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว 3,844.55 บาทต่อผู้มีสิทธิ ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากร
1.2 ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ประกอบด้วย ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ วงเงิน 3,519,721,000 บาท และค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี วงเงิน 689,724,500 บาท รวงวงเงิน 4,209,445,500 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 192,349,800 บาท หรือคิดเป็น 4.79%
1.3 ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง วงเงิน 13,506,166,200 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 698,867,600 บาท หรือคิดเป็น 5.46%
1.4 ค่าบริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน และผู้ป่วยโรคหอบหืด) ประกอบด้วย 3 รายการ ได้แก่ งบบริการควบคุมป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง วงเงิน 1,169,228,400 บาท งบบริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน วงเงิน 78,642,000 บาท และงบบริการเพื่อลดการนอนในโรงพยาบาลของผู้ป่วยโรคหอบหืด (Asthma) วงเงิน 51,053,900 บาท รวมวงเงิน 1,298,924,300 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 101,308,600 บาท หรือคิดเป็น 8.46%
1.5 ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม สำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 1,490,288,000 บาท
1.6 ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติม สำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ ประกอบด้วย (1) บริการด้วยทีมแพทย์ประจำครอบครัว วงเงิน 236,509,300 บาท (2) บริการที่ร้านยา วงเงิน 249,320,700 บาท (3) บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล วงเงิน 695,990,900 บาท (4) บริการสาธารณสุขระบบทางไกล วงเงิน 851,210,000 บาท (5) บริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน วงเงิน 32,945,500 บาท (6) บริการทันตกรรมเคลื่อนที่ วงเงิน 40,512,000 บาท และ (7) ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับหน่วยบริการร่วมให้บริการด้านการพยาบาล วงเงิน 73,739,600 บาท รวมวงเงิน 2,180,228,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 117,440,100 บาท หรือคิดเป็น 5.69%
1.7 ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย
- ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วงเงิน 2,522,207,000 บาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 28,394,000 บาท หรือคิดเป็น 1.11%
- ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน วงเงิน 2,900,246,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 139,692,000 บาท หรือคิดเป็น 5.06%
- ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด วงเงิน 530,968,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 256,000 บาท หรือคิดเป็น 0.05%
1.8 เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ วงเงิน 522,923,000 บาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 119,885,300 บาท หรือคิดเป็น 18.65%
1.9 ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว สำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ จำนวน 66,371,000 คน วงเงิน 25,383,960,500 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 1,339,915,100 บาท หรือคิดเป็น 5.57% ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากร
2. สำหรับงบประมาณบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) วงเงิน 2,238,836,200 บาทนั้น เห็นสมควรที่คณะรัฐมนตรีจะมอบให้หมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัด และสอดคล้องกับภารกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
3. มอบหมายให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการและบริการจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง และมีประสิทธิถาพ ในด้านการบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี บริการสาธารณสุขร่วมกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน บริการสาธารณสุขร่วมกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว มาตรา 18 (14) แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และควบคุมดูแล สปสช. เป็นไปตามการมอบหมายดังกล่าวด้วย
อนึ่ง เนื่องจากปริมาณการใช้บริการและอัตราค่าใช้จ่ายในการบริการแก่ผู้ป่วยของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว อีกทั้งค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคสำหรับคนไทยทุกคน ทุกสิทธิ ที่มีสัดส่วนคิดเป็น 10.76% ของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อย
ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินมากเกินไป จึงเห็นสมควรที่กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งดำเนินการและให้ความสำคัญในด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนทั่วไปโดยเร่งด่วน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการให้บริการแก่ผู้ป่วยในระยะยาว รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน และพิจารณาให้ความสำคัญกับความพร้อมและศักยภาพของผู้ให้บริการสาธารณสุข จัดให้มีบริการที่มีคุณภาพแก่ประชาชน และมีการติดตามประเมินผลตามตัวชี้วัดที่สะท้อนถึงผลลัพธ์การให้บริการสาธารณสุข เพื่อให้มีความคุ้มค่าจากการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในประเทศ