นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับเทศกาลสงกรานต์ 2567 ประจำวันที่ 13 เมษายน 2567 (สะสม 3 วัน) พบว่าปริมาณการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อยู่ที่ระดับ 8,065,992 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 5.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยระบบการขนส่งทางรางมีการใช้บริการสูงสุด คิดเป็นสัดส่วน 45.28% รองลงมาเป็นระบบขนส่งทางถนน 33.80% ถัดมาเป็นอากาศ 11.49% และสุดท้ายระบบขนส่งทางน้ำ 9.42%
ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ยังคงดำเนินงานและปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อต้องการอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยให้ประชาชน ซึ่งภาพรวมจากระบบการเดินทางและระบบ TRAMS พบว่า ระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ สามารถรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างเพียงพอและดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมาก
โดยระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศที่มีผู้ใช้สูงสุดในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ 1.ภาคกลาง : ทางอากาศ (ขาออก) 133,720 คน-เที่ยว 2.ภาคใต้ : ทางถนน 105,897 คน-เที่ยว 3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) : ทางถนน 121,291 คน-เที่ยว 4.ภาคเหนือ : ทางถนน 74,490 คน-เที่ยว และ 5.ภาคตะวันออก : ทางถนน 58,974 คน-เที่ยว ขณะที่การจราจรเข้า - ออก กรุงเทพฯ บนทางหลวงสายหลัก 10 เส้นทาง มีปริมาณ 3,137,863 คัน เพิ่มขึ้น 2.78% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านการเดินทางภายในกรุงเทพฯ บนทางด่วนมีปริมาณ 4,357,619 คัน ลดลง 3.48%
ในส่วนการตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจ จุดพักรถ และจุดจอด 221 แห่ง มีการตรวจรถ 43,123 คัน พบบกพร่อง 8 คัน และสั่งเปลี่ยนรถ 8 คัน ตรวจผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 3,123 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด สำหรับรถไฟ มีการตรวจความพร้อมผู้ปฏิบัติงาน 202 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด และการตรวจความพร้อมท่าเรือ/แพ 161 แห่ง ตรวจเรือ 2,686 ลำ พบข้อบกพร่อง 8 ลำ ได้สั่งห้ามพร้อมทั้งเปรียบเทียบปรับทั้ง 8 ลำ และตรวจผู้ปฏิบัติงาน 3,868 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า สำหรับอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคม รวม 703 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 88 คน บาดเจ็บ 762 คน มูลเหตุสันนิษฐานสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด 416 ครั้ง คิดเป็น 59% ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 371 ครั้ง บริเวณที่เกิดเหตุสูงสุด คือ ทางตรง 502 ครั้ง คิดเป็น 71% จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ นครราชสีมา 7 คน จังหวัดที่เกิดเหตุสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 38 ครั้ง
โดยสรุปเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 4% จำนวนผู้เสียชีวิตไม่มีการเปลี่ยนแปลง และจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 4% ส่วนโครงข่ายทางรางเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต โครงข่ายทางน้ำ และทางอากาศไม่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นอยากขอความร่วมมือผู้เดินทาง ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อมุ่งหวังให้การสูญเสียลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ยังได้มอบให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กำกับดูแลรถโดยสารสาธารณะ ไม่ให้ฉวยโอกาสเอาเปรียบผู้โดยสารช่วงเทศกาลสงกรานต์ กำชับพนักงานขับรถต้องมีความพร้อมก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ หากพบการกระทำความผิดให้ลงโทษขั้นสูงสุด สำหรับวันที่ 12 เมษายน 2567 ขบ. รายงานผลการติดตามตรวจสอบการเดินรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก ด้วยระบบ GPS Tracking 50,338 คัน พบการใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด 210 คัน และการตรวจด้วยกล้องเลเซอร์ 1,932 คัน พบการใช้ความเร็วเกินกำหนด 15 คัน และได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับรถโดยสารสาธารณะแล้ว 46 เรื่อง พบว่าเป็นกรณีขับรถประมาท/น่าหวาดเสียว มากที่สุด
นายสุริยะ กล่าวอีกว่า กรมการขนส่งทางราง (ขร.) รายงานว่า วันที่ 12 เมษายน 2567 มีประชาชนใช้บริการระบบราง รวม 1,103,344 คน-เที่ยว น้อยกว่าวันเดียวกันของปีผ่านมา 14,995 คน-เที่ยว หรือลดลง 1.34% และน้อยกว่าประมาณการ 75,415 คน-เที่ยว ทั้งนี้ คาดว่าช่วงนี้จะมีประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและทำบุญ ตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ จำนวนมาก จึงได้สั่งการให้ ขร. ประสานผู้ให้บริการระบบรางเพิ่มความถี่ในการให้บริการ และกวดขันด้านความปลอดภัย นอกจากนี้ ในวันที่ 13 - 15 เมษายน 2567 ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าหลายรายงดเว้นการเก็บค่าโดยสารสำหรับผู้โดยสารที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จึงเน้นย้ำในการดูแลและอำนวยความสะดวกแก่กลุ่มผู้ใช้บริการดังกล่าวด้วย
ขณะที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รายงานบรรยากาศการเดินทางวันที่ 13 เมษายน 2567 ที่สถานีรถไฟทุกแห่งทั่วประเทศ มีประชาชนเดินทางบางตา ส่วนการเดินทางวันที่ 12 เมษายน 2567 มีประชาชนเดินทางโดยรถไฟ 88,193 คน เป็นผู้โดยสารขบวนรถปกติ 85,446 คน และขบวนรถเสริมพิเศษช่วยการโดยสารอีก 2,747 คน แบ่งเป็นผู้โดยสารขาเข้า 38,367 คน ขาออก 49,826 คน สำหรับเส้นทางที่มีผู้โดยสารเดินทางหนาแน่นที่สุด คือ สายใต้ 30,660 คน
นอกจากนี้กรมเจ้าท่า (จท.) รายงานสถานการณ์ทางน้ำประจำวันที่ 13 เมษายน 2567 ในพื้นที่กรุงเทพฯ มีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการปริมาณเบาบาง ส่วนสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 1 - 7 ได้จัดตั้งศูนย์ปลอดภัยทางน้ำและจุดอำนวยความสะดวก จัดเจ้าหน้าที่ในการให้บริการและดูแลความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ เหตุการณ์ทั่วไปเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่พบรายงานอุบัติเหตุทางน้ำ
ขณะเดียวกัน ผู้บริหาร จท. ได้ลงพื้นที่ตรวจเข้มศูนย์อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยทางน้ำสุราษฎร์ธานี พร้อมกำชับให้ดำเนินมาตรการความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด ส่วนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกช่วงเทศกาลสงกรานต์ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความดูแล โดยบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการให้ได้รับความสะดวกและปลอดภัยในช่วงวันหยุดยาว