นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เผยผลหารือร่วมกับนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ถึงการเตรียมความพร้อมในการขนย้ายกากตะกอนแร่แคดเมียมกลับไปฝังกลบที่เดิมในจังหวัดตากตามแนวทางของคณะกรรมการอำนวยการการขนย้ายกากแคดเมียมและกากสังกะสีว่า กระทรวงฯ ได้รับความร่วมมือจากส่วนราชการในจังหวัดตากที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดีในการเตรียมความพร้อม เช่น การตรวจสภาพความแข็งแรงของบ่อฝังกลบให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม การตรวจสอบโครงสร้างและพื้นผิวของบ่อปูนซีเมนต์ ระบบรวบรวมน้ำชะล้างและการปูก้นหลุมให้เรียบร้อยตามที่ระบุในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) การตรวจสอบเครื่องจักรในการขนย้ายถุง Big Bag กากตะกอนแร่แคดเมียมไปฝังกลบ รวมทั้งมีการตรวจประเมินสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่ให้กระทบกับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการฝังกลบว่ามีความปลอดภัยตามหลักวิชาการและปลอดภัยมากที่สุด
โดยทางจังหวัดตากได้มีคำสั่งตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ตามมาตรา 29 ประกาศห้ามไม่ให้บุคคลเข้าไปอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใดในพื้นที่โรงงานฯ พื้นที่ฝังกลบในรัศมี 100 เมตรจากบริเวณโดยรอบบ่อกักเก็บกากอุตสาหกรรมทั้ง 7 บ่อ และอาคารโรงเก็บพัสดุที่มีกากตะกอนแร่แคดเมียมบรรจุในถุงบิ๊กแบ็กภายในอาคารเป็นระยะเวลา 90 วัน นับแต่วันประกาศเป็นต้นไป
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานงานกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อร่วมกันตรวจสอบและติดตามโรงงานต้องสงสัยในพื้นที่ กกทม. ซึ่งจากการตรวจสอบในช่วงที่ผ่านมายังไม่พบกากตะกอนแร่แคดเมียมเพิ่มเติม ทำให้ขณะนี้มีปริมาณกากตะกอนแร่แคดเมียมที่พบอยู่ที่ 12,535 ตัน จากทั้งหมด 15,000 ตัน แต่ได้ย้ำให้ทีมเจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมและสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดยังคงดำเนินการตรวจสอบและติดตามโรงงานและโกดังที่อยู่ในพื้นที่ต้องสงสัยให้มีการค้นหากากตะกอนแร่แคดเมียมอย่างต่อเนื่อง
"กระทรวงอุตสาหกรรมมีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้อย่างรัดกุม โดยได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่พื้นที่จังหวัดตากซึ่งเป็นต้นทางของแหล่งฝังกลบกากตะกอนแร่เดิม รวมถึงทุกจังหวัดที่มีการตรวจพบการลักลอบกักเก็บกากตะกอนแร่แคดเมียม เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัย และประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง" นายณัฐพล กล่าว