นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เผยสถิติอุบัติเหตุบนโครงข่ายถนนของกระทรวงคมนาคมในวันที่ 14 เม.ย.67 เกิดอุบัติเหตุจำนวน 181 ครั้ง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 36.11% และลดลง 21.64% จากเมื่อวันที่ 13 เม.ย.67 โดยมีผู้บาดเจ็บ 208 ราย ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.17% และลดลง 21.80% จากเมื่อวันที่ 13 เม.ย.67 และมีผู้เสียชีวิต 208 ราย ลดลง 36.11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลง 32.35% จากวันที่ 13 เม.ย.67 ซึ่งภาพรวมเกิดการสูญเสียลดลงอย่างต่อเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัดของทุกหน่วยงาน เพื่อต้องการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับประชาชน รวมถึงมุ่งหวังให้การเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิตลดลง
สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุส่วนใหญ่มาจากบนถนน ประเภทรถจักรยานยนต์ ถัดมาเป็นรถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ โดยขับขี่ยานพาหนะไม่เคารพกฎหมายจราจรและขับขี่เร็วเกินกฎหมายกำหนด ก่อให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสีย
ขณะที่สถิติอุบัติเหตุสะสม 4 วัน (11-14 เม.ย.67) เกิดเหตุรวม 917 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 119 ราย ผู้บาดเจ็บ 996 ราย มูลเหตุสันนิษฐานสูงสุด คือ ขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด 552 ครั้ง คิดเป็น 60% ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 497 ครั้ง บริเวณที่เกิดเหตุสูงสุด คือ ทางตรง 657 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 72% จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ นครราชสีมา 8 คน จังหวัดที่เกิดเหตุสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 45 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 4% ผู้เสียชีวิตลดลง 4% และผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้น 4% ส่วนโครงข่ายทางรางเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 คน ไม่มีผู้เสียชีวิต โครงข่ายทางน้ำ และทางอากาศไม่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุ
สำหรับภาพรวมขนส่งสาธารณะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 สะสม 4 วัน (11-14 เม.ย.67) มีปริมาณการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศและระหว่างประเทศที่สามารถรองรับความต้องการของประชาชนได้อย่างเพียงพอที่ระดับ 10,478,277 คน/เที่ยว เพิ่มขึ้น 7.22% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยระบบการขนส่งสาธารณะภายในประเทศในระบบทางรางมีการใช้บริการสูงสุด 45.16%
สำหรับระบบขนส่งสาธารณะภายในประเทศที่มีผู้ใช้สูงสุดในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ 1.ภาคกลาง ทางอากาศ (ขาออก) 172,144 คน/เที่ยว 2.ภาคใต้ ทางถนน 124,593 คน/เที่ยว 3.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ทางถนน 142,074 คน/เที่ยว 4.ภาคเหนือ ทางถนน 85,675 คน/เที่ยว และ 5.ภาคตะวันออก ทางถนน 71,776 คน/เที่ยว ขณะที่การจราจรเข้า-ออกกรุงเทพฯ บนทางหลวงสายหลัก 10 เส้นทาง มีปริมาณ 3,983,236 คัน เพิ่มขึ้น 1.72% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านการเดินทางภายในกรุงเทพฯ บนทางด่วนมีปริมาณ 5,680,678 คัน ลดลง 2.70%
ส่วนการตรวจความพร้อมรถโดยสารสาธารณะ ณ จุดตรวจ จุดพักรถ และจุดจอด 221 แห่ง มีการตรวจรถ 56,136 คัน พบบกพร่อง 8 คัน และสั่งเปลี่ยนรถ 8 คัน ตรวจผู้ปฏิบัติงานจำนวน 56,136 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด สำหรับรถไฟมีการตรวจความพร้อมผู้ปฏิบัติงาน จำนวน 295 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด และการตรวจความพร้อมท่าเรือ/แพ จำนวน 168 แห่ง ตรวจเรือ จำนวน 3,583 ลำ พบข้อบกพร่อง 8 ลำ และได้สั่งห้ามพร้อมทั้งเปรียบเทียบปรับทั้ง 8 ลำ และตรวจผู้ปฏิบัติงาน 5,161 คน ไม่พบแอลกอฮอล์ หรือสิ่งเสพติด
โดยคาดการณ์ว่าประชาชนจะทยอยเดินทางกลับเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่วันนี้ ซึ่งได้ย้ำทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ยังคงคุมเข้มมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการเดินทาง และเตรียมพร้อมระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถโดยสาร รถไฟ เรือ และเครื่องบิน ต้องมีเพียงพอกับปริมาณผู้โดยสาร และมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ไม่ล่าช้า ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ไม่โก่งราคา และไม่ทิ้งผู้โดยสาร
พร้อมทั้งกำชับให้กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท สำรวจไฟฟ้าแสงสว่าง และไฟสัญญาณจราจรให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดให้บริการประชาชนตลอดเส้นทาง เพื่อพร้อมอำนวยความสะดวกการเดินทางในช่วงขากลับให้เกิดความคล่องตัว
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลการเดินทาง และช่องทางบริการให้ข้อมูลข่าวสารและรับเรื่องร้องเรียน และจุดบริการประชาชนผ่านศูนย์ปลอดภัยคมนาคม สายด่วน 1356 ตลอด 24 ชั่วโมง