Decrypto: เมื่อ AI ของรัฐแนะนำให้ประชาชนทำผิดกฎหมาย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 17, 2024 11:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI หรือ "Artificial Intelligence" เป็นเทคโนโลยีที่กำลังถูกนำไปปรับใช้อย่างแพร่หลายในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานของรัฐก็ตาม

"MyCity" เป็นแชทบอท AI มีวัตถุประสงค์เพื่อถาม ตอบ ให้ข้อมูลการดำเนินการเพื่อประกอบธุรกิจแก่เจ้าของธุรกิจในรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่หลังจากเปิดให้บริการไม่นานก็ได้รับรายงานว่า MyCity ได้ให้คำตอบที่ผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำตอบที่อาจทำให้เจ้าของธุรกิจผู้ถามคำถามกระทำผิดกฎหมาย ตัวอย่างเช่น MyCity ได้ให้คำตอบว่าค่าแรงขั้นต่ำของรัฐคือ 15 เหรียญต่อชั่วโมง ทั้งที่จริงแล้วค่าแรงขั้นต่ำของรัฐคือ 16 เหรียญต่อชั่วโมง

หรือให้คำตอบว่านายจ้างสามารถไล่ลูกจ้างออกได้หากลูกจ้างปฏิเสธที่จะลงเวลาออกงานก่อนทำความสะอาดที่ทำงาน (ลงเวลาออกงานแล้วแต่ยังต้องทำความสะอาดที่ทำงานต่อ) แต่แท้จริงแล้วการกระทำดังกล่าวเป็นการให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างล่วงเวลา และไม่มีสิทธิไล่ลูกจ้างคนดังกล่าวออก

และหากถาม MyCity เพื่อเป็นการยืนยันว่าคำแนะนำจาก MyCity เป็นทางการหรือสามารถใช้เสมือนคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญได้หรือไม่ ก็จะได้รับคำตอบว่าสามารถนำคำตอบต่าง ๆ ไปใช่ได้อย่างถูกต้อง

ต่อมาหน่วยงานผู้ดูแล MyCity ได้ขึ้นข้อความเตือนว่าคำตอบของ Mycity อาจไม่ถูกต้องหรือสมบูรณ์ ซึ่งได้รับการวิพากษ์ว่าหากได้รับข้อมูลจาก MyCity แล้วยังต้องไปยืนยันข้อมูลจากเจ้าหน้าที่หรือทนายความอีก จะตรงกับวัตถุประสงค์ของการนำ AI มาใช้เพื่อลดงานหรือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานหรือไม่

แม้ประเทศไทยยังไม่เกิดกรณีดังกล่าว (เท่าที่ทราบ) หน่วยงานรัฐและเอกที่สนใจหรือกำลังนำเอา AI มาปรับใช้หรือให้บริการแก่ประชาชน ควรพิจารณาผลกระทบดังตัวอย่างที่นอกจากจะไม่ได้ลดการทำงานของเจ้าหน้าที่แล้วยังจะเพิ่มปัญหาอีกด้วย และในส่วนของประชาชนเองการได้รับคำแนะนำจาก AI หรือบริการถามตอบของรัฐในรูปแบบคล้ายคลึงกัน

การได้รับคำตอบที่ผิดแล้วนำไปปฏิบัติตามนั้นอาจไม่ได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องรับผิดหรือรับโทษตามกฎหมาย เพราะแนวทางการพิจารณาความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผิดในทางอาญานั้น ประชาชนไม่สามารถอ้างความไม่รู้ หรือได้รับข้อมูลที่ผิดพลาด (แม้ข้อมูลนั้นจะมาจากหน่วยงานของรัฐก็ตาม) ได้ กล่าวคือกฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนเป็นผู้รู้กฎหมายที่ถูกต้อง

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคต AI จะถูกพัฒนาให้มีความแม่นยำและถูกต้องในการให้ข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลที่สำคัญได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งก่อนจะถึงเวลาดังกล่าวผู้ใช้งานหรือประชาชนควรพิจารณาข้อมูลที่ได้รับอย่างละเอียดเพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาทางกฎหมายจากการนำเอาข้อมูลที่ได้รับจาก AI ไปใช้

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ