นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ประจำวันที่ 17 เม.ย.67 เกิดอุบัติเหตุ 224 ครั้ง บาดเจ็บ 224 คน เสียชีวิต 28 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 17.01-18.00 น. โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ แพร่ (จังหวัดละ 11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ แพร่ (12 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (3 ราย)
ทั้งนี้ ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (11-17 เม.ย.67) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,044 ครั้ง บาดเจ็บรวม 2,060 คน เสียชีวิตรวม 287 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (82 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ แพร่ (80 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (17 ราย)
นายอนุทิน กล่าวว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 มีจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุและผู้บาดเจ็บลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่จำนวนของผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อย ซึ่งสาเหตุหลักของอุบัติเหตุทางถนนยังคงเกิดจากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ และตัดหน้ากระชั้นชิด รวมถึงจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดเกิดจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย
"ทุกภาคส่วนจะร่วมมือกันขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่องเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ทั้งด้านคน ยานพาหนะ ถนน และสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น การแนะนำ ตักเตือน ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงหลัก อาทิ ขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด และการไม่สวมหมวกนิรภัย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ในประเด็นการลดปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย" นายอนุทิน กล่าว
ด้านนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จะถอดบทเรียนการทำงานของทุกภาคส่วน มาเป็นต้นแบบปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและบริบททางสังคม เพื่อเสริมสร้างกลไกการลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ให้เป็นระบบและเข้มแข็ง รวมถึงนำปัญหาอุปสรรคที่เป็นจุดอ่อนในการทำงานมาปรับปรุง และพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อนำไปสู่เป้าหมายภาพรวมของประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศให้เหลือ 12 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนภายในปี 2570