ศาลปกครองสูงสุดแก้คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง เป็นให้ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ ใช้อำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อให้บริษัท เดอะแวลู พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ดำเนินการก่อสร้างโครงการอาคารชุด แอสปาย คอนโดมิเนียม งามวงศ์วาน โดยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และการบริการชุมชน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2553 อย่างเคร่งครัด ทั้งในช่วงก่อสร้างและช่วงเปิดดำเนินโครงการ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
คดีนี้สมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 39 คน ยื่นฟ้องกับ กรุงเทพมหานคร ที่ 1 ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ที่ 2 ผู้อำนวยการเขตหลักสี่ ที่ 3 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 4 บริษัท เดอะแวลู พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่ 5 และคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และการบริการชุมชน ที่ 6 (ผู้ถูกฟ้องคดี)
โดยผู้ฟ้องคดีทั้ง 39 คนฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ร่วมกันออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการอาคารชุด แอสปาย คอนโดมิเนียม งามวงศ์วาน ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่ไม่ถูกต้อง และการก่อสร้างโครงการดังกล่าวดำเนินการโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ใน EIA อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญและกระทบต่อการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของผู้ฟ้องคดีทั้ง 39 จึงขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและเพิกถอนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอาคารชุด แอสปาย คอนโดมิเนียม งามวงศ์วาน และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามที่กำหนดไว้ใน EIA ให้ครบถ้วน กับให้ชดใช้ค่าเสียหาย
ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอาคารชุด แอสปาย คอนโดมิเนียม งามวงศ์วาน มีรายละเอียดที่ครอบคลุมสาระสำคัญตามแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6 ได้มีมติให้ความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารโดยไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตแห่งพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 นั้น เป็นกรณีที่ไม่ขัดต่อข้อกำหนดเกี่ยวกับความสูงของอาคาร ด้วยเหตุนี้ การออกใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารในกรณีดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาขณะเกิดกรณีพิพาท พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ที่มีผลใช้บังคับได้บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาสั่งอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาต นำมาตรการตามที่เสนอไว้ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมไปกำหนดเป็นเงื่อนไขในการสั่งอนุญาต หรือต่ออายุใบอนุญาตโดยให้ถือว่าเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตามกฎหมายในเรื่องนั้นด้วย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ไม่ปฏิบัติตามใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ ที่ให้ผู้ยื่นแจ้งฯ ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงต้องถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการสั่งอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารตามใบรับหนังสือแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคาร และถือเป็นเงื่อนไขที่กำหนดตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ด้วย
เมื่อผู้สั่งอนุญาตให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 ก่อสร้างอาคารโดยมีเงื่อนไข ได้ทราบถึงการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ตนเองได้นำไปกำหนดไว้ในการอนุญาตครั้งดังกล่าวและยังถือเป็นเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนด จึงมีหน้าที่ในการพิจารณาทบทวนการอนุญาตครั้งนั้นว่ายังมีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่ปรากฏว่าได้มีการพิจารณาทบทวนการออกคำสั่งอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารครั้งดังกล่าว และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ปล่อยปละละเลยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 อยู่ในวิสัยที่สามารถจะใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของตนได้ เนื่องจากการดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 5 เป็นโครงการขนาดใหญ่ภายในพื้นที่ที่มีขอบเขตที่จำกัดบริเวณแน่นอน และเป็นการดำเนินการที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมและระงับยับยั้งการก่อสร้างอาคารโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือฝ่าฝืนต่อเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ มิได้ใช้มาตรการทางปกครองอย่างครบถ้วน ทั้งที่อยู่ในวิสัยที่จะดำเนินการให้การควบคุมอาคารและการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมนั้นสัมฤทธิ์ผลได้ตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย แต่กลับปล่อยให้เกิดการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน กรณีจึงพิจารณาได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติแล้ว ทั้งนี้ ความเสียหายตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง เป็นผลที่ไกลเกินกว่าเหตุจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 จึงมิได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายในกรณีนี้จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้แต่อย่างใด