ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการคาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้ง พร้อมด้วยนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าส่วนราชการสำนักชลประทาน 17 แห่ง ทั้ง 76 จังหวัด เข้าร่วมประชุม
โดย รมว.เกษตรฯ ได้สั่งการให้กรมชลประทาน เร่งแก้ไขสถานการณ์น้ำแบบเชิงรุก ตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรทุกภาคส่วน โดยให้ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ปลูกลำไย และทุเรียน ที่ในช่วงนี้กำลังออกผลผลิต แต่ประสบภัยแล้งจนได้รับน้ำไม่เพียงพอ
นอกจากนี้ ยังได้เร่งสั่งการให้ขึ้นป้าย "ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช" ทุกจังหวัด เพื่อรับแจ้งสถานการณ์ด้านการเกษตร และสถานการณ์น้ำจากเกษตรกร เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
สำหรับสถานการณ์น้ำ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 พ.ค.) สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปริมาตรน้ำในอ่างฯ 41,458 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 54% (ปริมาตรน้ำใช้การได้ 17,516 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 33%) ปริมาตรน้ำในอ่างฯ เทียบกับปี 2566 (43,744 ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 57% น้อยกว่าปี 2566 จำนวน 2,286 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 13.94 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบาย 139.91 ล้าน ลบ.ม. สามารถรับน้ำได้อีก 34,879 ล้าน ลบ.ม.
อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำใช้การอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของปริมาตรน้ำใช้การ จำนวน 16 อ่างฯ ได้แก่ อ่างฯ ภูมิพล (29%) อ่างฯ สิริกิติ์ (19%) อ่างฯ กิ่วคอหมา (28%) อ่างฯ แควน้อยบำรุงแดน (26%) อ่างฯ แม่มอก (20%) อ่างฯ น้ำพุง (27%) อ่างฯ จุฬาภรณ์ (13%) อ่างฯ อุบลรัตน์ (21%) อ่างฯ ลำตะคอง (29%) อ่างฯ สิรินธร (22%) อ่างฯ ป่าสักชลสิทธิ์ (15%) อ่างฯ กระเสียว (7%) อ่างฯ ขุนด่านปราการชล (17%) อ่างฯ คลองสียัด (3%) อ่างฯ พบพระ (29%) และอ่างฯ ปราณบุรี (20%)