คณะอักษรฯจุฬาชี้ปรากฎการณ์ "มูเตลู" ตัวช่วยรับมือความปั่นป่วนไม่แน่นอนของสังคม

ข่าวทั่วไป Wednesday May 8, 2024 10:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

คณะอักษรฯจุฬาชี้ปรากฎการณ์
"การที่ไสยศาสตร์งอกงามในสังคมเมืองเป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในสังคมเมือง ที่ทำให้ผู้คนเข้าหาและพึ่งพิงไสยศาสตร์ ผู้คนกำลังแสวงหาอะไรหรือรู้สึกอย่างไรในสังคมนี้" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กัญญา วัฒนกุล ศูนย์ไทยศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬางกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็นและเป้าหมายของการเสวนา "เคลือบแคลง ย้อนแย้ง แสวงหา: ไสยศาสตร์ในวิถีเมือง ในงานอักษรศาสตร์สู่สังคม ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆนี้

ในการเสวนาครั้งนี้ มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เกษม เพ็ญภินันท์ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อทำความเข้าใจปัจจัยที่ส่งเสริมวิถีปฏิบัติต่อสิ่งเหนือธรรมชาติในบริบทเมือง

คณะอักษรฯจุฬาชี้ปรากฎการณ์

ผศ.ดร.เกษม กล่าวว่า ในสังคมชนบท ไสยศาสตร์รับใช้ "ความเป็นชุมชน" (collective) ในขณะที่ชุมชนเมือง ไสยศาสตร์ตอบสนอง "ความเป็นปัจเจกชน"

"ไสยศาสตร์มีบทบาทค่อนข้างมากและสำคัญกับสังคมชนบท กิจกรรมของไสยศาสตร์อยู่ในโลกพิธีกรรม ประเพณี ซึ่งโยงกับกลุ่มคนที่มีความเชื่อร่วมกัน ตอบโจทย์การดำรงอยู่ของชุมชน ในบริบทเช่นนี้ พิธีกรรมสำคัญกว่าความเชื่อ บางความเชื่อ คนอาจไม่เชื่อเรื่องนั้นแล้ว แต่พิธีกรรมยังดำรงอยู่เป็นเครื่องมือยึดโยงคนในชุมชน"
ผศ.ดร.เกษม ยกตัวอย่าง "พิธีกรรมแห่นางแมว" ซึ่งยังคงมีปฏิบัติอยู่ในหลายพื้นที่ในปัจจุบัน
คณะอักษรฯจุฬาชี้ปรากฎการณ์
"แม้จะยังมีพิธีกรรมนี้ แต่ไม่ได้หมายความว่าชุมชนและผู้ที่ทำพิธีกรรมนี้จะเชื่อว่าแห่นางแมวแล้ว ฝนจะตก แต่พิธีกรรมช่วยตอบโจทย์สภาพจิตใจและความหวังร่วมของชุมชน"

"ไสยศาสตร์เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในชีวิตของคนในสังคมเมือง" ผศ.ดร.กัญญา อธิบายเชื่อมโยงความเฟื่องฟูของไสยศาสตร์กับบริบทสังคมเมืองที่เต็มไปด้วยความไม่มั่นคง ไม่แน่นอน ไม่ปลอดภัย และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและโอกาสในชีวิต

"ในเศรษฐกิจแบบทุนนิยมของเมือง ความรวยกระจุก จนกระจาย ช่องว่างทางรายได้มาก ความเหลื่อมล้ำสูง ผู้คนจำนวนมากจึงเข้าหาความเชื่อเชิงไสยศาสตร์เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉินและความไม่แน่นอนของชีวิต ไม่ว่าจากสภาวการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม"

ผศ.ดร.กัญญา ยกตัวอย่าง คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานเป็นคนงานก่อสร้างในเมือง รับค่าแรงรายวัน ซึ่งชีวิตในบริบทเช่นนี้มีความไม่มั่นคง ความไม่แน่นอน และความไม่ปลอดภัยสูง

ไสยศาสตร์ เติมเต็มความหวังในโลกทุนนิยม

ในบรรดาความปั่นป่วนไม่แน่นอนของสังคม มิติด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นปัจจัยที่ทำให้คนเดินเข้าสู่พื้นที่ของไสยศาสตร์มากที่สุด ผศ.ดร.พิพัฒน์ กล่าว

"ไสยศาสตร์ในสังคมเมืองเน้นตอบสนองความต้องการและเป้าหมายเชิงปัจเจก และวนเวียนอยู่กับเรื่องความมั่งคั่งร่ำรวย ความสำเร็จ มิติความรักความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเมืองในโลกทุนนิยมแสวงหา"

ความรู้สึกแก่งแย่งชิงดี การสั่งสมความมั่งคั่งตามกระแสทุนนิยม ก่อให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคง เมื่อรู้สึกไม่มั่นคง ก็ยิ่งแสวงหาความเชื่อ พลังเหนือธรรมชาติเพื่อบันดาลในสิ่งที่ปรารถนา

"ความปรารถนาในความมั่งคั่งทำให้เกิดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พิธีกรรม และวัตถุมงคลใหม่ ๆ ที่เชื่อและคาดหวังว่าจะนำโชคลาภและความสำเร็จทางด้านวัตถุมาให้"
วัตถุมงคลให้โชคเป็นที่นิยม เช่นเดียวกับการใบ้หวยและนำเสนอข่าวเรื่องราวสิ่งแปลกประหลาดที่อาจจะนำไปตีเป็นตัวเลขได้ และการไหว้เทพเจ้าที่เชื่อว่าจะให้โชคลาภ
"สภาวะทางสังคมแบบไหนที่ทำให้คนหันไปหาที่พึ่งจากสิ่งเหนือธรรมชาติมากกว่าแสวงหาความช่วยเหลือจากโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ หรือจากคนในสังคมด้วยกันเอง" ผศ.ดร.กัญญา ตั้งคำถามและเสนอข้อคิดเห็นว่า "มันเป็นเพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่ ที่ไม่โอบไม่เอื้อ ไม่มีสวัสดิการที่จะมาช่วยเหลือผู้คนเวลาที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตหรืออยู่ในสังคมที่ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ ถ้าเราอยากรวยเท่ากับคนรวย 10% ของประเทศ ดูเหมือนมันไม่มีทางอื่นเลย นอกจากต้องถูกลอตเตอรี่เท่านั้นหรือเปล่า"

"ไสยศาสตร์และความเชื่อเหนือธรรมชาติไม่ได้เป็นความงมงาย แต่สะท้อนโลกทัศน์และความตระหนักที่ว่ามนุษย์ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล" ผศ.ดร.กัญญา กล่าว

"โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยความผันผวน ไม่แน่นอน มีปัจจัยมากมายและซับซ้อนเกินกว่ามนุษย์จะควบคุมได้ ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ หลักเหตุผลไม่เพียงพอ และหลายครั้งก็ไม่อาจตอบสนองความต้องการของเราได้ ผู้คนต่างหาแนวทางในการตอบโจทย์การมีชีวิต และไสยศาสตร์เป็นหนึ่งในคำตอบ คู่ไปกับหลักศาสนาและหลักเหตุผล"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ