ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 ให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการขนกากแร่แคดเมียมจากจังหวัดตาก ไปยังจังหวัดสมุทรสาครและพื้นที่อื่น อันอาจมีการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เป็นหนึ่งใน 6 หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว โดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดำเนินการและทำการสืบสวนกรณีดังกล่าว
ล่าสุด พ.ต.ท.อมร หงษ์ศรีทอง ผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้ นายทัชชกร อรรณพเพ็ชร รองผู้อำนวยการกองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวน พร้อมคณะพนักงานสืบสวน ลงพื้นที่จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 6-8 พ.ค.67 เพื่อตรวจสอบวิธีการขนย้ายกากแคดเมียมเข้าโรงพักคอย และตรวจสอบพื้นที่ของโรงพักคอย โรงเก็บกากแคดเมียมสำรอง บ่อฝังกลบที่ 4 และบ่อฝังกลบที่ 5 ของ บมจ.เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กอ.รมน.จังหวัดตาก ปลัดอำเภอเมืองตากและผู้นำชุมชน
อีกทั้งได้ประสานงานรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเรียกร้องจากแกนนำประชาชน และผู้นำชุมชน เกี่ยวกับการขนย้ายและการฝังกลบกากแคดเมียมในพื้นที่จังหวัดตาก ตลอดจนตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขั้นตอนการอนุญาตให้ขนย้ายกากแคดเมียมและสังกะสีออกจาก บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ หรือชื่อเดิมคือ บมจ. ผาแดงอินดัสตรี ซึ่งเป็นสถานที่ฝังกลบ ไปยังบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งได้มีหนังสือขอตรวจสอบข้อมูล โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บงการสอบสวนคดีพิเศษฯ ไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว จำนวน 13 หน่วยงาน ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เป็นต้น
หลังจากนี้ คณะพนักงานสืบสวน กองคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะได้นำข้อมูลที่ได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจากประชาชนในพื้นที่ รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม คณะกรรมการทำงานแก้ไขปัญหาและการขนย้ายกากแคดเมียม และคณะกรรมาธิการติดตาม และตรวจสอบการแก้ไขปัญหากากแคดเมียม เพื่อแก้ไขปัญหาในกรณีดังกล่าวต่อไป รวมทั้งพิจารณาว่าเข้าข่ายลักษณะความผิดที่เป็นคดีพิเศษตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหรือไม่ หากพบความผิด จะสอบสวนเป็นคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้เกี่ยวข้องต่อไป