นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรอ. กำลังเร่งออกใบอนุญาต ร.ง.4 ให้กับผู้ประกอบการที่ยื่นเอกสารครบถ้วน ถูกต้อง และจะแล้วเสร็จบใน 30 วันแน่นอน สำหรับที่ปรากฏข่าวการออกใบอนุญาต ร.ง.4 มีความล่าช้าและอยู่ระหว่างการพิจารณาเป็นจำนวนมากนั้น กรอ. ได้ปรับปรุงกระบวนการออกใบอนุญาต ร.ง.4 อย่างต่อเนื่อง โดยการปรับลดขั้นตอนให้สั้นลง ลดระยะเวลา และออกใบอนุญาต ร.ง.4 ให้รวดเร็วขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน
อย่างไรก็ดี กรอ. ได้กำหนดระเบียบหลักเกณฑ์ที่รัดกุมในการออกใบอนุญาต ร.ง.4 ในอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น โรงงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบกับประชาชน และสิ่งแวดล้อม
โดยปัจจุบัน มีการยื่นขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จำนวน 187 คำขอ โดยกว่า 66% หรือ 123 คำขอ เป็นคำขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 โรงงานลำดับที่ 105 และ 106 ซึ่งเป็นโรงงานรับกำจัดกากอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นของเสียอันตรายและไม่เป็นของเสียอันตราย เช่น การคัดแยก หลุมฝังกลบ ทำเชื้อเพลิงผสม ทำเชื้อเพลิงทดแทนจากน้ำมันและตัวทำละลายใช้แล้ว สกัดแยกโลหะ ถอดแยกบดย่อยชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หลอมตะกรัน รีไซเคิลกรดด่าง เป็นต้น
ทั้งนี้ จำเป็นต้องพิจารณาเอกสารประกอบการดำเนินการอย่างละเอียด รอบคอบ รัดกุม มีความปลอดภัย เป็นไปตามหลักวิชาการทุกกระบวนการ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม และประชาชนในอนาคต ภายใต้กระบวนการพิจารณาที่มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบติดตามได้ในทุกขั้นตอน
อย่างไรก็ดี พบว่าคำขอรับใบอนุญาต ร.ง.4 ของผู้ประกอบการรับกำจัดกากอุตสาหกรรมบางราย มีสาระสำคัญบางประการที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ เช่น พื้นที่จัดเก็บหรือจัดวางวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์ สารเคมี และวัตถุอันตรายมีความไม่เหมาะสม มีการจัดทำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยไม่ครอบคลุมทุกกระบวนการผลิต ระบบบำบัดมลพิษน้ำและอากาศ ไม่เหมาะสมกับมลพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิต เป็นต้น
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันเหตุที่อาจก่อให้เกิดความอันตรายไม่ปลอดภัยต่อประชาชน และสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต กรอ. จึงได้แจ้งให้ผู้ประกอบการปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้มีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ และมีความปลอดภัยต่อทั้งผู้ปฏิบัติงานและประชาชนโดยรอบโรงงาน โดยปัจจุบัน มีคำขอที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กรอ. เพียง 16 ราย เท่านั้น
นายจุลพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 66 ที่ผ่านมา มีการอนุญาตให้ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศ (นอกนิคมฯ) จำนวน 2,598 โรงงาน มูลค่าการลงทุนกว่า 356,140 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 23% เมื่อเทียบกับปี 65 และเกิดการจ้างงานกว่า 106,631 คน ในขณะที่มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีการเติบโตสูงถึง 72% จากปี 65
หากพิจารณาเฉพาะปี 67 ก็พบว่ามีการลงทุนตั้งและขยายโรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคม ในช่วง 4 เดือนแรกของปีแล้วกว่า 170,000 ล้านบาท ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โรงงานที่รับกำจัดกากอุตสาหกรรม เป็นกลุ่มโรงงานที่มีความเสี่ยงสูง มักพบปัญหาถูกร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับการประกอบกิจการที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต แหล่งน้ำ และสิ่งแวดล้อม ทั้งการปล่อยน้ำเสีย กลิ่นเหม็น ฝุ่นควัน รวมทั้งการตรวจพบโรงงานที่ไม่จัดการกากอุตสาหกรรมที่รับมาดำเนินการอย่างถูกต้อง ดังเช่นที่เป็นข่าวในหลายพื้นที่ เช่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระยอง ราชบุรี เป็นต้น เกิดภาพลักษณ์ด้านลบต่อภาคการผลิต ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
"เพื่อเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ปรับปรุงกระบวนการการทำงาน การพิจารณาออกใบอนุญาต ร.ง.4 ด้วยความรวดเร็ว และมีความละเอียดรอบคอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การประกอบการภาคอุตสาหกรรมของประเทศสามารถเติบโตคู่ชุมชนได้อย่างยั่งยืน" นายจุลพงษ์ กล่าว