หากติดตามข่าวเทคโนโลยีในช่วงเดือนที่ผ่านมาจะพบข่าวการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดมากมาย เช่น การเปิดตัว Optimus หุ่นยนต์ของ Tesla ที่ถูกออกแบบให้มีความสามารถโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้มือได้ใกล้เคียงมนุษย์มาก คาดว่าจะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต หรือบริการแทนมนุษย์ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ถูกใช้ในปัจจุบันทุกประเภท
หรือการเปิดตัว ChatGPT-4.0 ของ OpenAI ที่มีความสามารถเพิ่มมากกว่ารุ่นก่อนอย่างมาก จนสามารถออกแบบการสอนและเป็นผู้สอนคณิตศาสตร์แทนมนุษย์ได้ ถึงขนาด Mustafa Suleyman ผู้บริหารระดับสูงของ บริษัท ไมโครซอฟ (Microsoft) ให้ความเห็นว่า AI ไม่ใช่เทคโนโลยีธรรมดา แต่เรียกได้ว่าเป็น เผ่าพันธุ์ (Species) ใหม่เลยทีเดียว
แม้ความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อมนุษย์ในฐานะแรงงานจะถูกพูดถึงมาช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบดังกล่าวอาจมาถึงเร็วกว่าที่คาดคิด
รายงานและงานวิจัยทางวิชาการต่างพบว่าภายในระยะเวลาประมาณ 10 ปีหรือเร็วกว่านั้นเทคโนโลยีอัตโนมัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Artificial Intelligence : AI จะมาแทนที่แรงงานมนุษย์อย่างสิ้นเชิงมากกว่า 20 ล้านตำแหน่งทั่วโลก ซึ่งประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างวางแผนให้การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่นและก่อปัญหาแก่สังคมและเศรษฐกิจน้อยที่สุด
อย่างเช่น ในสหภาพยุโรปตั้งเป้าหมายให้ผู้ใหญ่มีทักษะด้านดิจิทัลและเพิ่มอัตราการจ้างงานด้าน IT เพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มความสามารถด้านดิจิทัลให้กับแรงงานทักษะต่ำ (Low Skill) ไม่น้อยกว่า 80% ของจำนวนแรงงานทั้งหมดภายในปี 2573 หรือในประเทศสหรัฐอเมริกาเพิ่มการจ้างอาชีพที่ให้บริการด้านสุขภาพ รักษาพยาบาลหรือสาธารณสุข จะเติบโตขึ้น เนื่องจากประเทศจะเข้าสู่สังคมสูงวัย เพื่อชดเชยแรงงานภาคบริการและภาคการผลิตที่จะลดลงในอนาคตเนื่องจากการมาถึงของเทคโนโลยีต่าง ๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยอาจยังตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวไม่ทันท่วงที กล่าวคือยังไม่พบนโยบายที่มุ่งเน้นการปกป้องแรงงานหรือคุ้มครองแรงงาน เมื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ กำลังจะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ รัฐควรจะต้องดำเนินการเชิงรุกต่าง ๆ เช่น การออกนโยบายหรือกฎหมายเพื่อเตรียมความพร้อมเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ในอนาคต
ตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมาย Digital Equity Act ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อลดความไม่เสมอภาคกันทางดิจิทัล โดยกำหนดให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเต็มที่เท่าเทียม รวมถึงการกำหนดให้รัฐมีหน้าที่พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น การเพิ่มสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ไม่เพียงต้องมีอย่างทั่วถึง ยังต้องให้ประชาชนสามารถใช้ได้โดยไม่ถูกจำกัดด้วยราคา หรืออุปกรณ์ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทักษะ บริการหรือการผลิตประเภทใหม่ ๆ มาแทนที่แรงงานจากตลาดแรงงานเดิม
ดังนั้นแล้ว การพัฒนาทักษะเกี่ยวกับดิจิทัลของแรงงานในตลาดแรงงานปัจจุบันและที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตจึงเป็นความท้าทายของประเทศไทยที่ปฏิเสธการเปลี่ยนผ่านไม่ได้ รัฐจึงต้องเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้น ปกป้อง และส่งเสริม ให้เกิดการปรับตัวในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่อาจได้รับผลกระทบมากที่สุด
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)