นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง การพัฒนาระบบการแรงงาน : การจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน วุฒิสภา ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเสนอ
พร้อมมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของ กมธ.ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน และหากไม่มีข้อทักท้วงหรือไม่มีความเห็นเป็นอย่างอื่นให้ถือเป็นมติ ครม.ตามที่เสนอ
"เนื่องจากปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องแรงงานมากถึง 13 ฉบับ เพื่อให้มีการบังคับใช้อย่างเป็นระบบ และกำหนดโทษทางอาญา เพื่อให้เกิดประโยชน์และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เหมือนกรณีจัดทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" นายคารม กล่าว
ทั้งนี้ กมธ.แรงงาน วุฒิสภา ได้ศึกษาแนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน โดยรวบรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 13 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518, คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 47 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519, พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528, พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533, พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537, พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541, พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543, พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553, พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2554, พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ.2558, พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ.2562 มาปรับปรุงเรียบเรียงใหม่ไว้ในฉบับเดียวกันให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยยังคงหลักการสำคัญของกฎหมายแต่ละฉบับไว้ตามเดิม