2 ปี "ชัชชาติ" ตัดเกรดตัวเอง 5 เต็ม 10 ยันทำแล้ว 90% จาก 200 นโยบายพร้อมให้คนกรุงตัดสิน

ข่าวทั่วไป Tuesday May 28, 2024 15:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

2 ปี

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยรองผู้ว่าฯ กทม. แถลงผลงานหลังทำงานครบ 2 ปี โดยยอมรับนโยบายที่ใช้หาเสียงกว่า 200 เรื่องยังไม่สามารถดำเนินการได้ทั้งหมด หลังเข้ามาบริหารงานผ่านไปแล้ว 2 ปี เนื่องจากบางเรื่องล้าสมัยไปแล้ว จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่ในภาพรวมสามารถดำเนินการไปได้แล้วราว 90% และในช่วง 2 ปีหลังจากนี้ไปมีปัญหาอีกมากมายที่ต้องดำเนินการแก้ไข

"บางเรื่องมันล้าสมัยไปแล้วก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่น่าจะทำไปได้สัก 90% แล้ว ถ้าให้คะแนนตัวเองก็ 5 เต็ม 10 เหมือนเดิม แต่การให้คะแนนเป็นเรื่องที่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน" นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพฯ เป็นเมืองเที่ยวสนุกแต่ประสิทธิภาพต่ำ ทำให้คนเหนื่อยกับการใช้ชีวิตและการเผชิญกับปัญหาอุปสรรคมากมาย สิ่งที่ได้ทำตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจึงมีการเปลี่ยนแปลงและปรับหลายๆ ด้านเพื่อให้การทำงานและการแก้ไขปัญหามีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้คนเหนื่อยน้อยลง และมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น

"สิ่งที่ได้ทำไปแล้วเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างให้มีประสิทธิภาพ หลังจากนี้คนที่เข้ามาก็จะไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะประชาชนจะคุ้นชินกับความสะดวกสบาย" นายชัชชาติ กล่าว
*Traffy Fondue แก้ไขความเดือดร้อนปชช.

นำ Traffy Fondue มาใช้ โดยปรับปรุงให้เกิดความคล่องตัว พบว่า สามารถแก้ไขปัญหาให้ประชาชนไปแล้ว 465,291 เรื่อง คิดเป็น 78% จากเรื่องที่ร้องเรียนทั้งหมด 588,842 เรื่อง อยู่ระหว่างแก้ไข 58,456 เรื่อง ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 40,655 เรื่อง และติดตาม 11,545 เรื่อง เฉลี่ยใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาลดลง 97% จากเดิมประมาณ 2 เดือน เหลือเพียง 2 วัน

*เดินหน้าโครงการผู้ว่าฯ สัญจร

ช่วง 2 ปีที่เหลือจะเดินหน้าโครงการผู้ว่าฯ สัญจรรอบสอง เพื่อรับทราบปัญหาของประชาชนในพื้นที่ทั้ง 23 หน่วยงาน และ 50 สำนักงานเขต ซึ่งที่ผ่านมามีข้อสั่งการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ไป 1,779 รายการ ดำเนินการเสร็จแล้ว 1,251 รายการ

*ปรับปรุงทางเท้าใหม่/จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย-สายสื่อสาร
  • ปรับปรุงทางเท้าใหม่ระยะทาง 785 กิโลเมตร ให้มีมาตรฐานแข็งแรง คงทน สวยงาม โดยปรับลดความสูง และติดเบรลล์บล็อกแนวตรงสำหรับผู้พิการและผู้สูงวัย
  • จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย 257 จุด แทนการขับไล่เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันได้
  • จัดระเบียบสายสื่อสารระยะทาง 627 กิโลเมตร และเปลี่ยนหลอดไฟแสงสว่างให้เป็นหลอดแอลอีดีที่เชื่อมต่อระบบ IOT รองรับการเข้าสู่สมาร์ทซิตี้เข้า
*แก้น้ำท่วม

ปัญหาน้ำท่วมสามารถระบายได้เร็วขึ้นจากเป็นวันเหลือแค่ 20-30 นาที จากจุดน้ำท่วมสำคัญ 737 จุด โดยแก้ไขแล้ว 370 จุด และจะแก้ไขให้เสร็จในปี 67 อีก 190 จุด โดยได้ดำเนินการล้างท่อระบายน้ำไปแล้ว 4,200 กิโลเมตร ทำความสะอาดคลองเปิดทางน้ำไหล 1,960 กิโลเมตร ขุดลอกคลอง 217 กิโลเมตร พร้อมทั้งซ่อมบำรุงประตูระบายน้ำ สถาบีสูบน้ำ ล้างอุโมงค์ระบายน้ำ และตรวจสอบเครื่องสูบน้ำให้พร้อมใช้งาน

"การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมีความซับซ้อน ต้องไปดำเนินการในส่วนอื่นที่เกี่ยวพันกันให้ครบวงจรในทุกมิติ" นายชัชชาติ กล่าว
*เพิ่มพื้นที่สาธารณะ

การเพิ่มพื้นที่สาธารณะเพื่อช่วยลดต้นทุนในการใช้ชีวิตให้กับประชาชน สวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ กำลังจะเกิดขึ้นด้วยโครงการเชื่อมบึงหนองบอน-สวนหลวง ร.9 เนื้อที่ 1,144 ไร่ รวมทั้งการเพิ่มสวนขนาดใหญ่ให้เป็นปอดฟอกอากาศ และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ เช่น ที่บ่อฝรั่ง (ริมบึงบางซื่อ) เนื้อที่ 46 ไร่ ซึ่งจะเป็นสวนกีฬาทางน้ำแห่งใหม่ และสวนป่าชุ่มน้ำบางกอก (เสรีไทย) เนื้อที่ 86 ไร่

ส่วนสวน 15 นาที ซึ่งอยู่ใกล้ชิดชุมชนเพียงเดินไม่เกิน 15 นาที ล่าสุดเกิดขึ้นแล้วกว่า 100 แห่ง คาดว่าจะครบ 500 แห่ง ภายใน 4 ปี โดยขณะนี้ได้วางเกณฑ์มาตรฐาน 8 ข้อ เพื่อยกระดับคุณภาพของสวน 15 นาทีทุกแห่ง ประกอบด้วย 1.การเข้าถึงพื้นที่ 2.สิ่งอำนวยความสะดวก 3.กิจกรรมการใช้งาน 4.การออกแบบ 5.ความปลอดภัย 6.การมีส่วนร่วม 7.สุขภาวะ และ 8.สิ่งแวดล้อม เช่น ระบบนิเวศน์

สำหรับศูนย์กีฬาแบบใหม่ครบวงจรได้ปรับปรุงแล้ว 11 แห่ง เช่น ศูนย์กีฬาเบญจกิติ ศูนย์กีฬาบางขุนเทียน ศูนย์นันทนาการวัดดอกไม้ เตรียมขยายผลอีก 13 แห่ง เช่น ศูนย์กีฬาตลาดพลู ศูนย์กีฬาวังทองหลาง ศูนย์กีฬาเสนานิเวศน์ ศูนย์กีฬาทวีวัฒนา ศูนย์นันทนาการทุ่งครุ เป็นต้น

ส่วนการเพิ่มพื้นที่แห่งความสร้างสรรค์กำลังมีการปรับปรุงอาคารลุมพินีสถานสู่ Performance Art Hub ของคนกรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดจะแล้วเสร็จในปี 68

*ปรับขยายบริการสุขภาพ

ที่ผ่านมาได้ปรับบริการสุขภาพเพื่อลดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ปัญหาหมออยู่ไกล เข้าถึงยาก ไม่สะดวก เสียเวลา โดยจัดโครงการตรวจสุขภาพฟรี 1 ล้านคน ไม่จำกัดสิทธิ์ ซึ่งจะเปิดยาวไปถึงเดือน ก.ย.67 มีการตรวจคัดกรองมากกว่า 14 รายการพื้นฐาน เพื่อรู้สัญญาณของโรคก่อนที่จะเป็นอันตราย มีเพิ่มเจาะเลือดส่งตรวจแล็บ เอ็กซเรย์ปอด ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และภาวะแทรกซ้อนทางตา

นอกจากนี้ กทม.ยังได้ขยายการบริการของศูนย์บริการสาธารณะ รับตรวจรักษานอกเวลาจนถึง 2 ทุ่ม หรือเสาร์-อาทิตย์ ทุกพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน อีกทั้งยังขยายศูนย์ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพ (กายภาพบำบัด) แก้ออฟฟิศซินโดรม ปวดคอ บ่า ไหล หลัง ได้ที่ศูนย์ฯ ใกล้บ้าน 8 แห่ง, เปิด Pride Clinic คัดกรอง-ปรึกษาฟรี สำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ จากเดิมมี 6 แห่ง เพิ่มเป็น 31 แห่ง มีผู้ใช้บริการเกือบ 20,000 ราย มีตั้งแต่การตรวจระดับฮอร์โมนและการขอรับฮอร์โมน ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้า ปรึกษาด้านศัลยกรรมการผ่าตัด ตรวจหา HIV ซิฟิลิส และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และบริการยาป้องกันการติดเชื้อ HIV

*ตรวจสอบทุจริตเข้มข้น

ตลอด 2 ปีได้ดำเนินการป้องกันและต่อต้านการทุจริตอย่างเข้มข้น โดยมีการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 781 เรื่อง ในจำนวนนี้มีมูลทุจริต 56 เรื่อง ได้ดำเนินการถึงขั้นสอบสวนทางวินัย 44 เรื่อง และมีการให้ออกจากราชการ 29 ราย อยู่ระหว่างการพิจารณา 12 เรื่อง ส่งต่อให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จำนวน 5 เรื่อง

*อำนวยความสะดวกการขออนุญาต

การให้บริการขออนุญาตต่างๆ มีความสะดวกยิ่งขึ้นด้วย BMA One Stop Service (https://bmaoss.bangkok.go.th) ซึ่งรวมศูนย์การขอใบอนุญาตไว้บนออนไลน์ โดยอยู่ระหว่างตั้งทีมอนุมัติกลางให้สามารถอนุมัติได้เร็วขึ้น ประชาชนสามารถติดตามทุกคำขออนุญาตทั้งออนไลน์และออฟไลน์ได้จาก Line OA กรุงเทพมหานคร (@bangkokofficial) ส่วนการขออนุญาตถ่ายทำที่ให้บริการอยู่ ขณะนี้กำลังพัฒนาแพลตฟอร์มการขออนุญาตถ่ายทำให้เป็นระบบกลางที่ครบวงจรจบในที่เดียวต่อไป

ส่วนการเปิดฐานข้อมูล (Open Data) ได้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านนโยบาย งบประมาณ สัญญาจ้าง ภาษี ฯลฯ ไปแล้วมากกว่า 1,000 ชุดข้อมูล มีผู้ใช้งานมากกว่า 3 ล้านครั้ง/ปี ด้านการเปิดระบบจัดซื้อจัดจ้างได้มุ่งให้เกิดความโปร่งใสตั้งแต่การประกวดราคาจนถึงการบริหารสัญญา โดยเร็วๆ นี้ มีระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าแข่งขันประมูลงานของ กทม. ด้วยการ Subscribe ให้ผู้รับจ้างรับการแจ้งเตือนโครงการใหม่และติดตามความคืบหน้าได้

*ชำระหนี้ BTS-โอนกรรมสิทธิ์ ลุล่วง

การแก้ไขปัญหาโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า BTS ที่มีมาต่อเนื่องได้ลุล่วงไปในก้าวแรก โดยสามารถชำระหนี้งานระบบของส่วนต่อขยาย 23,000 ล้านบาท และโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของ กทม.เรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือการลดการผูกขาด โดยเสนอรัฐบาลให้ยกเลิกคำสั่ง มาตรา 44 นำระบบรถไฟฟ้ากลับสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและร่วมทุนตามกฎหมาย เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนที่มีผู้ใช้บริการวันละ 7 แสนคน/ครั้ง โดยจะเสนอเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทย

*ลุยต่ออีก 2 ปี มุ่งขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่

อีก 2 ปีข้างหน้า ตนและทีมงานจะมุ่งมั่นขับเคลื่อนให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ โดยทำงานประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเป็นช่วงของการพัฒนาเมืองที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น

*ด้านสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนรถสันดาปสู่รถ EV สร้างอากาศสะอาด

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กล่าวถึงการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมว่า ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เพื่อทำให้กรุงเทพฯ มีอากาศสะอาด นอกเหนือจากดำเนินการตามมาตรการลดฝุ่นที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องแล้ว จากนี้จะเปลี่ยนรถบริการของ กทม. ไม่ว่าจะเป็น รถเก็บขยะ รถบรรทุกน้ำ รถสุขาเคลื่อนที่ รถบรรทุก 6 ล้อ จากรถที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมาเป็นรถพลังงานไฟฟ้า (อีวี) ทั้งนี้จากการคำนวณรถขยะขนาด 5 ตัน สามารถลดค่าเช่าลงเหลือ 2,240 บาท/คัน/วัน จาก 2,800 บาท/คัน/วัน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือ 200 ตัน/ปี จาก 2,256 ตัน/ปี ลดการปล่อย PM2.5 เหลือเป็นศูนย์ จาก 22 กก./ปี และลดต้นทุนพลังงานเหลือ 455 บาท/เที่ยว จาก 1,300 บาท/เที่ยว โดยมีแผนรับมอบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในปี 67 จำนวน 615 คัน ปี 68 จำนวน 392 คัน และปี 69 อีก 657 คัน

นอกจากนี้ยังเร่งรัดการก่อสร้างโรงเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าอ่อนนุช-หนองแขม เพื่อลดการฝังกลบ และลดต้นทุนการจัดการขยะ โดยคาดว่าจะเปิดในปี 69 ซึ่งจะประหยัดเงินค่าจัดการขยะได้ 172,462,500 บาท/ปี หรือลดลง 23% โดยปัจจุบัน กทม.มีปริมาณขยะวันละ1.7 หมื่นตัน

*ด้านการเดินทาง จราจรคล่องตัว ใช้ดิจิทัลอำนวยความสะดวก

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีหลังจากนี้ คนกรุงเทพฯ จะเดินทางสะดวกขึ้นด้วยบริการป้ายรถเมล์ดิจิทัล 500 ป้าย การปรับปรุงศาลารถเมล์ 300 หลัง และการติดตั้งจอดิจิทัลในศาลาที่พักผู้โดยสารอีก 200 หลัง เพิ่มตัวเลือกการเดินทาง โดยเฉพาะการเชื่อมต่อ (Last Mile) ด้วยการเดินทางที่หลากหลาย เช่น รถตุ๊กตุ๊ก ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า จักรยาน Shuttle Bus และการเดินเท้าที่สะดวกปลอดภัย มีหลังคาคลุม เป็นต้น

ด้านการจราจรจะคล่องตัวขึ้น โดยการอัพเกรดสัญญาณไฟจราจรทั่วกรุงเทพฯ ให้เป็น Adaptive Signaling ปรับสัญญาณไฟให้สอดคล้องกับปริมาณจราจร 541 ทางแยก พร้อมทั้งมอนิเตอร์เมือง สังเกต และสั่งการผ่าน Command Center ทั้งในเรื่องการติดตั้ง CCTV ไฟส่องสว่าง เซ็นเซอร์วัดระดับน้ำท่วมขังบนถนน โดยส่งข้อมูลมาที่ Open Digital Platform

ส่วนการขอใบอนุญาตก่อสร้างออนไลน์จะมีความครอบคลุมอาคารทุกประเภท ตั้งแต่ขนาดเล็กต่ำกว่า 2,000 ตร.ม., ขนาดใหญ่ +2,000 ตร.ม., อาคารขนาดใหญ่พิเศษ +10,000 ตร.ม. ไปจนถึงอาคารสูง +23 ม. และสามารถติดตามสถานะโครงการผ่านออนไลน์ได้

*ยกระดับบริการสาธารณสุข

นางทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า การยกระดับการบริการด้านสาธารณสุขของคนกรุงเทพฯ ในช่วง 2 ปีหลังนี้จะผลักดันโรงพยาบาลเดิม 3 แห่ง และเพิ่มโรงพยาบาลใหม่ในสังกัด กทม.อีก 4 แห่ง เพื่อขยายเตียงดูแลคนกรุงเทพฯ ให้ได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น อีก 1,272 เตียง โดยจะเพิ่มที่โรงพยาบาลกลางอีก 150 เตียง โรงพยาบาลบางนาเพิ่ม 324 เตียง โรงพยาบาลคลองสามวาเพิ่ม 268 เตียง ส่วนโรงพยาบาลแห่งที่จะเปิดใหม่ ได้แก่ โรงพยาบาลพระมงคลเทพมุนี ขนาด 150 เตียง โรงพยาบาลดดอนเมือง ขนาด 200 เตียง โรงพยาบาลสายไหม ขนาด 120 เตียง และโรงพยาบาลทุ่งครุ ขนาด 60 เตียง

ขณะเดียวกันยังพัฒนาศูนย์บริการสาธารณสุขให้เข้าถึงง่าย กระจายทั่วกรุงเทพฯ โดยก่อสร้างอาคารใหม่ 21 แห่ง และปรับปรุงใหม่อีก 31 แห่ง ในช่วง 2 ปีต่อจากนี้

"กทม.เพิ่มศักยภาพการให้บริการของสถานพยาบาลในสังกัดจาก 11% มาเป็น 30%" นางทวิดา กล่าว
*ยกระดับการศึกษา-พัฒนาทักษะอาชีพ

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กล่าวว่า การพัฒนาคนคือการพัฒนาเมือง สิ่งที่ กทม. มุ่งมั่นในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้ คือ การยกระดับจากการศึกษา สู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ซึ่งหมายถึง การดูแลตั้งแต่ระดับเด็กปฐมวัย การศึกษาภาคบังคับ และการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยการศึกษาปฐมวัยเป็นการดูแลเด็กก่อนวัยเรียน จาก 83,264 คน เพิ่มเป็น 100,000 คน ปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและเริ่มรับเด็กเร็วขึ้นที่อายุ 1 ขวบครึ่ง เพิ่มชั้นอนุบาลสำหรับเด็ก 3 ขวบ โดยมีแผนขยายให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในปี 69 ปรับปรุงหลักสูตรสร้างพัฒนาสมวัยผ่านการเล่น (play-base-learning) พร้อมทั้งปรับปรุงกายภาพของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้งห้องน้ำ สนามเด็กเล่น และห้องเรียนปลอดฝุ่น

ส่วนการศึกษาภาคบังคับจะเปลี่ยนหลักสูตรที่เน้นการคิดวิเคราะห์ นำความรู้ไปใช้บนหลักสูตรฐานสมรรถนะ (skill-base-learning) และพัฒนาห้องเรียนดิจิทัล สร้าง Active Learning สำหรับเด็ก ป.4-ม.3 ทุกโรงเรียน โดยทุกห้องเรียนมีคอมพิวเตอร์ เป็นการต่อยอดจากที่ได้มีการนำร่องห้องเรียน Chromebook ในปีการศึกษาที่ผ่านมาพบว่ามีคะแนนเฉลี่ยมากกว่าห้องเรียนปกติ 28%

ด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ จะเน้นที่การพัฒนาทักษะวิชาชีพที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน โดยดำเนินการร่วมกับสถานประกอบการ เช่น หลักสูตรขับรถสามล้อไฟฟ้า (Muvmi) หลักสูตรแม่บ้านการโรงแรม ซึ่งร่วมกับสมาคมโรงแรมไทย และหลักสูตรตัดขนสุนัข ที่ร่วมกับโรงพยาบาลสัตว์ทองหล่อ เป็นต้น แต่กำลังพิจารณาที่จะขยายทักษะเรื่องภาษา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ