เตรียมพร้อมรับมือฝนชุกช่วง ส.ค.-ก.ย. สทนช. เกาะติดสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday May 29, 2024 18:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เตรียมพร้อมรับมือฝนชุกช่วง ส.ค.-ก.ย. สทนช. เกาะติดสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้ว โดยที่ผ่านมามีฝนตกมากในบางแห่งจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อน ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1-27 พ.ค.67 พบมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ รวม 1,078 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ส่งผลให้สถานการณ์ในภาพรวมดีขึ้นตามลำดับ และคาดว่าจากนี้ไปจนถึงกลางเดือน มิ.ย.67 จะมีฝนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก จากนั้นฝนจะเริ่มกลับมาตกชุกหนาแน่นอีกครั้งในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 67 โดยจะมีฝนตกหนักและหนักมากในหลายพื้นที่ ประกอบกับคาดว่าจะมีโอกาสเกิดพายุในประเทศไทยประมาณ 1-2 ลูก ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอุทกภัยได้ในบางพื้นที่

เตรียมพร้อมรับมือฝนชุกช่วง ส.ค.-ก.ย. สทนช. เกาะติดสถานการณ์น้ำทั่วประเทศ
"สทนช.ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ล่วงหน้า โดยได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันการบูรณาการข้อมูลให้มีความแม่นยำสูง เพื่อนำไปสู่ระบบการแจ้งเตือนภัยที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยสร้างใช้เครือข่ายการสื่อสารที่แพร่หลายเข้าถึงพื้นที่ รวมถึงการวางแผนปฏิบัติการให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและบรรเทาให้เกิดความเดือดร้อนหรือเสียหายน้อยที่สุด" นายไพฑูรย์ กล่าว

พร้อมกันนี้ได้ให้เตรียมพร้อมพื้นที่ว่างในอ่างฯ ที่มีความเสี่ยงจะมีปริมาณน้ำมากเกินเกณฑ์ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนบางลาง เขื่อนลำปาว เขื่อนวชิราลงกรณ ฯลฯ โดยทยอยระบายน้ำออกจากอ่างฯ เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝน ป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนหากเกิดสถานการณ์ฝนตกหนัก แต่จะยังคงเหลือปริมาณน้ำสำรองไว้เพียงพอในกรณีหากมีปริมาณฝนตกน้อยกว่าที่คาดการณ์

สำหรับอ่างฯ บางแห่งที่มีปริมาณน้ำน้อย เช่น เขื่อนสิริกิติ์ ฯลฯ ได้มีการปรับลดการระบายน้ำลงเพื่อกักเก็บน้ำสำรองไว้ให้เพียงพอสำหรับฤดูแล้งหน้า ซึ่ง สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในอ่างฯ ทุกแห่งอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชม. และมีการหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกสัปดาห์เพื่อปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด พร้อมทั้งติดตามข้อมูลค่าความชื้นในดินจากแผนที่ของ GISTDA รวมถึงพื้นที่ที่ยังมีปริมาณน้ำคงค้างอยู่จากฝนที่ตกในระยะที่ผ่านมา เพื่อเร่งพร่องน้ำออกจากจุดต่างๆ และขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร ฯลฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ได้มีการเร่งตรวจสอบสภาพของตลิ่งและแนวคันกั้นน้ำเพื่อให้มีความแข็งแรงและปลอดภัยมากที่สุด

"จากสถานการณ์ฝนตกในช่วงระยะที่ผ่านมาส่งผลให้ปัญหาภัยแล้งคลี่คลายลงแล้วในทุกพื้นที่ ขณะนี้ สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานคาดการณ์สภาพอากาศไปจนถึงหน่วยงานแจ้งเตือนภัย และหน่วยงานปฏิบัติต่างๆ ได้บูรณาการร่วมกันในการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนอย่างเต็มที่ โดยจะมีการใช้กลไกในการบริหารจัดการน้ำแบบรายลุ่มน้ำให้สัมพันธ์กัน" นายไพฑูรย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ