ทำบุญระวังได้บาป! ปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่น "เอเลี่ยนสปีชีส์" ทำระบบนิเวศพัง

ข่าวทั่วไป Thursday May 30, 2024 17:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทำบุญระวังได้บาป! ปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่น

ปัญหาเอเลี่ยนสปีชีส์ หรือสัตว์ต่างถิ่นส่งผลกระทบวงกว้างต่อภาคการประมง และภาคเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เนื่องจากมีการปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่นลงในแหล่งน้ำธรรมชาติโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศดั้งเดิมในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทั้งเรื่องความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำ ความสูญเสียเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสุขอนามัย

"ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ ประชาชนส่วนใหญ่นิยมเข้าวัดทำบุญ-ทำทานในวันสำคัญทางพุทธศาสนา หรือวันสำคัญอยู่เสมอ ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่มักมาคู่กันกับการทำบุญ คือ การปล่อยปลา ภายใต้ความเชื่อว่าการทำบุญปล่อยปลานั้น คือ การให้ชีวิต โดยให้โอกาสให้ชีวิตหนึ่งได้มีโอกาสเติบโต ซึ่งถือเป็นกุศลทาน อีกทั้งมีความเชื่อว่าการปล่อยสัตว์น้ำลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นการเพิ่มจำนวนและฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติให้คงอยู่ รักษาระบบนิเวศให้สมบูรณ์ เป็นแหล่งอาหาร และเป็นแหล่งประกอบอาชีพให้แก่ชุมชน และประชาชนทั่วไป" นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าว

ทำบุญระวังได้บาป! ปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่น

ในทางตรงกันข้าม การปล่อยสัตว์น้ำโดยมิได้พิจารณาองค์ประกอบ และนิเวศวิทยาแหล่งน้ำ และชีววิทยาของสัตว์น้ำ จะเป็นเหมือนดาบสองคมที่จะส่งผลต่อความหลากหลายของชนิดพันธุ์ และสมดุลของระบบนิเวศ การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปล่อย ทั้งแก่ผู้ขายและผู้ปล่อยสัตว์น้ำ จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องสื่อสารให้เข้าใจในทิศทางเดียวกัน และเพื่อให้การปล่อยสัตว์น้ำเป็นการสร้างบุญอย่างที่ตั้งใจอย่างแท้จริง

* สัตว์น้ำที่ปล่อยได้

ปลาตะเพียน ปลากระแห ปลาแก้มช้ำ ปลาสร้อยขาว ปลาโพง (ปลาสุลต่าน) ปลากาดำ ปลายี่สกไทย ปลาหมอไทย ปลาช่อน ปลาบู่ทราย ปลาสลาด ปลากราย ปลาสวาย ปลากดเหลือง ปลากดแก้ว ฯลฯ ซึ่งปลาเหล่านี้เป็นสัตว์น้ำพื้นถิ่นของประเทศไทย มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญปลาเหล่านี้ เป็นปลาที่สามารถอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไปได้

ทำบุญระวังได้บาป! ปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่น

นอกจากนี้ ยังมีสัตว์น้ำที่ปล่อยได้แต่ต้องเฉพาะพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อให้สัตว์น้ำเหล่านั้นสามารถมีชีวิตรอดและเจริญเติบโตได้ เช่น ปลาไหลนา กบนา ต้องปล่อยในบริเวณที่มีน้ำไหลเอื่อย พื้นที่เป็นดินแฉะ เพื่อปลาไหลจะได้สามารถขุดรูอาศัยอยู่ได้

ส่วนการปล่อยเต่านั้น ไม่แนะนำให้ปล่อย เนื่องจากผู้ปล่อยต้องสามารถแยกได้ว่า เต่าที่จะปล่อยเป็นเต่าบกหรือเต่าน้ำ เพราะหากเรานำเต่าบกไปปล่อยลงน้ำ เต่าบกจะไม่สามารถว่ายน้ำได้ และตายในที่สุด ซึ่งความแตกต่างระหว่างเต่า 2 ชนิดนี้นั้น จะพิจารณาพังผืดเชื่อมต่อระหว่างนิ้ว โดยเต่าน้ำจะมีพังผืดเชื่อมต่อระหว่างนิ้ว เพื่อใช้สำหรับว่ายน้ำ และมีเล็บแหลมขนาดเล็ก ส่วนเต่าบกจะไม่มีพังผืด และมีเล็บขนาดใหญ่

สัตว์น้ำอีกชนิดหนึ่งที่ไม่แนะนำให้ปล่อย คือ ปลาดุก เพราะผู้ปล่อยต้องแยกชนิดพันธุ์ของปลาดุกที่ทำการปล่อยได้ โดยสายพันธุ์ปลาดุกที่สามารถปล่อยได้ คือ ปลาดุกนาเท่านั้น ส่วนปลาดุกเทศ หรือปลาดุกรัสเซีย (ปลาดุกอัฟริกัน) ปลาดุกลูกผสม (ปลาดุกบิ๊กอุย) ห้ามปล่อยเด็ดขาด เพราะเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบนิเวศและสัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยอย่างมาก โดยการแยกระหว่างปลาดุกไทยและปลาเทศนั้นทำได้ยากมาก ดังนั้นการปล่อยปลาดุกในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากที่วัด หรือซื้อจากหน้าเขียง จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลอยู่มากในขณะนี้

* สัตว์น้ำที่ห้ามปล่อย

ปลาซักเกอร์ หรือ ปลากดเกราะ หรือ ปลาเทศบาล ปลาหมอคางดำ กุ้งเครฟิช ปลาหางนกยูง ปลาทับทิม ปลาดุกแอฟริกัน เต่าแก้มแดง (เต่าญี่ปุ่น) ตะพาบไต้หวัน และปลาต่างถิ่นสวยงาม สัตว์น้ำเหล่านี้ถือเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่น ก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบนิเวศ เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้นเหตุของการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำพื้นเมือง และส่งผลกระทบต่อบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรในกรณีที่สัตว์น้ำเหล่านี้หลุดรอดเข้าไปในบ่อ เช่น ปลาซักเกอร์ ปลาหมอคางดำ เป็นต้น

ที่ผ่านมา ได้ประชาสัมพันธ์เรื่องการปล่อยสัตว์น้ำมาอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันยังพบกับปัญหาการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปลาดุกลูกผสม และปลาดุกบิ๊กอุย ปลาซักเกอร์ และปลาหมอคางดำ เป็นต้น

กรมประมงได้ขอความอนุเคราะห์ไปยังสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ในการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับหน่วยงานสำนักงานพุทธศาสนาในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความตระหนัก ให้กับภิกษุ พุทธศาสนิกชน ในบริเวณวัด และศาสนสถานเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ขาย และมีนโยบายที่จะจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมให้ผู้ขายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเป็นกระบอกเสียง

นอกจากนี้ อยากจะเชิญชวนประชาชนหันมาบริโภคสัตว์น้ำรวมถึงสัตว์น้ำต่างถิ่นที่สามารถบริโภคได้ ทั้งปลาดุก และปลาหมอคางดำ เพื่อร่วมลดจำนวน และผลกระทบของสัตว์ต่างถิ่นในแหล่งน้ำธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง

ในกรณีที่พบสัตว์น้ำต่างถิ่นในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ท่านสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดโดย

  • ลงปูนขาว หรือ กากชา เพื่อฆ่าศัตรูปลา ในการเตรียมบ่อก่อนลงลูกปลาที่เลี้ยงทุกครั้ง
  • ใช้ถุงกรองเพื่อกรองน้ำเข้าบ่อ ป้องกันไม่ให้ปลาซักเกอร์ ปลาผู้ล่าอื่นๆ รวมถึงศัตรูปลาเข้าสู่บ่อเลี้ยง
  • หากพบปลาซักเกอร์ในบ่อ ต้องรีบดำเนินการจับขึ้น โดยใช้แห อวน หรือลอบ เพื่อควบคุมและกำจัดปลาซักเกอร์ไม่ให้แพร่ระบาดจำนวนมาก
  • หากพบปลาซักเกอร์ในแหล่งน้ำใกล้เคียงบ่อเลี้ยง ให้รีบกำจัด และแจ้งกรมประมง เพื่อหาทางควบคุมและกำจัดออกจากแหล่งน้ำ

นอกจากนี้ กรมประมงขอความร่วมมือประชาชน งด ละ เลิก ปล่อยสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์ ลงในแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างเด็ดขาด รวมถึงมีการป้องกันไม่ให้หลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำ และในกรณีที่ไม่ต้องการเลี้ยงสัตว์น้ำต่างถิ่น หรือเอเลี่ยนสปีชีส์แล้ว ให้นำมามอบให้กับหน่วยงานของกรมประมงทั่วประเทศ เพื่อเป็นการป้องกัน และลดโอกาสในการเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำดังกล่าว

หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ หรือ สัตว์น้ำต่างถิ่น สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด กรมประมง โทร. 0 2579 5281 หรือ เว็บไซต์ https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/site/ifdd


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ