Decrypto: อุดหนุนพรรคการเมืองด้วย Cryptocurrency?

ข่าวทั่วไป Tuesday June 4, 2024 15:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ในปี ค.ศ.2024 (พ.ศ.2567) จะมีเหตุการณ์ระดับโลกที่น่าจับตามอง คือ ศึกการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รีแมตช์ระหว่าง ไบเดน (Biden) - ทรัมป์ (Trump) โดยต่างฝ่ายต่างประกาศนโยบายและลูกเล่นต่าง ๆ เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวอเมริกัน

สำหรับนโยบายเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Cryptocurrency นั้น ไบเดน (Biden) มีนโยบายที่ไม่เป็นมิตรเท่าใดนัก ต่างกับ ทรัมป์ (Trump) ที่มีโนบายเอาใจเหล่าสาวก Cryptocurrency ไม่ว่าเป็นการประกาศจะให้สหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลางการพัฒนา Cryptocurrency รวมถึงยังรับการอุดหนุนหรือบริจาคด้วย Cryptocurrency หรือสินทรัพย์ดิจิทัลสกุลต่าง ๆ เช่น Bitcoin (BTC), Ethereum (ETH), USDC และ Shiba Inu (SHIB) เพื่อใช้เป็นทุนในการรณรงค์หาเสียง และ ทรัมป์ นับเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริการายแรกที่ประกาศรับการสนับสนุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล

แม้ประเทศไทยจะมิได้มีระบบการเลือกตั้งผู้นำโดยตรงเหมือนประเทศสหรัฐอเมริกา แต่กฎหมายของประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองนั้นเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่าง ๆ รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากประชาชนได้เช่นเดียวกัน จึงน่าพิจารณาว่าพรรคการเมืองในประเทศไทยจะสามารถรับการสนับสนุนด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลหรือ Cryptocurrency ได้หรือไม่

สำหรับประเทศไทยนั้น สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Cryptocurrency มีสถานะเป็น "ทรัพย์สิน" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือมีราคา สามารถถือเอาหรือถือครองได้สำหรับทุกคนทุกกลุ่ม พรรคการเมืองต่าง ๆ จึงอาจประกาศระดุมทุนรับบริจาคเป็น สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ได้ตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 62 (4) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง และ (5) เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค

อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากแบบใบรับบริจาคทรัพย์สินและประโยชน์อื่นใดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือแบบ พ.ก. 12 พบว่าได้กำหนดการรายงาน ประเภทและมูลค่า ทรัพย์สินที่พรรคการเมืองได้รับบริจาคโดยไม่มีข้อจำกัดว่าทรัพย์สินนั้น ๆ จะเป็นทรัพย์สินใด ดังนั้นแล้วพรรคการเมืองในประเทศไทยอาจสามารถรับการสนับสนุนหรือการบริจาคเป็น สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ตามกฎหมาย

แต่อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีพรรคการเมืองใดในประเทศไทยประกาศรับสนับสนุนหรือบริจาคด้วย สินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ซึ่งเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มหรือกระแสระดับโลกแล้ว ไม่แน่ว่าการเลือกตั้งระดับชาติครั้งหน้าอาจมีพรรคการเมืองในประเทศไทยประกาศรับสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Cryptocurrency มาใช่ในการหาเสียงหรือการดำเนินกิจกรรมในพรรคก็เป็นได้

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงน่าศึกษาและพิจารณาจากกรณีศึกษาดังกล่าว นำมาปรับปรุงกฎหมายและหลักเกณฑ์เกี่ยวกับรายได้ของพรรคการเมืองเพื่อให้สามารถกำกับดูแลพรรคการเมืองและดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับครรลองของประชาธิปไตย

นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์

อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ