นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีไฟไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ โซนจำหน่ายปลากัดและสัตว์เลี้ยง เขตจตุจักร เป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งแยกกับตลาดนัดจตุจักรที่ กทม. เป็นผู้ดูแล โดยโซนที่เกิดเพลิงไหม้ มีร้านค้า 118 คูหา และอีกประมาณ 15 คูหาใกล้เคียง พื้นที่รวม 1,400 ตารางเมตร
โดยในวันเกิดเหตุ ได้รับแจ้งเหตุเวลา 04.08 น. เจ้าหน้าที่ถึงที่เกิดเหตุ 04.14 น. เข้าควบคุมเพลิงและสงบเวลา 04.37 น. ซึ่งเพลิงลุกลามค่อนข้างเร็ว และไม่สามารถเข้าไปดับได้เนื่องจากมีการล็อกประตู ภายหลังเพลิงสงบ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่มีสัตว์เลี้ยงประเภทสุนัข แมว กระต่าย งู นก ปลากัด และไก่ ตายเป็นจำนวนมาก
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ตลาดศรีสมรัตน์ มีการค้าขายสัตว์มาประมาณ 20 ปีแล้ว โดยต่อสัญญาใหม่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.การสาธารณสุข (ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แบบ อภ.2) ขอกับกทม. พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ (ใบอนุญาตให้ทำการค้าหรือซากสัตว์ แบบ ร.10 ) ขอกับกรมปศุสัตว์ และ พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ โดยที่ผ่านมา กทม. ไม่เคยออกใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพให้แก่ร้านค้าสัตว์ เนื่องจากยังขาดความชัดเจนในข้อกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม กทม. มีนโยบายเรื่องการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงตลอดช่วงชีวิต จึงได้ทำการสำรวจในส่วนของกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง ตั้งแต่ เม.ย.-ก.ค. 66 กระทั่งวันที่ 12 ธ.ค. 66 ได้ทำหนังสือถามถึงข้อกฎหมายไปยังกรมอนามัย เรื่องกิจการที่ต้องขอใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และได้รับคำตอบกลับมาเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 67 ว่ากิจการค้าสัตว์เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งชัดเจนว่าต้องขออนุญาตทั้งหมด ทั้งประเภทฟาร์ม ร้านจำหน่ายสัตว์เลี้ยง ประเภทคาเฟ่สัตว์เลี้ยง และประเภทกิจการสปา อาบน้ำ ตัดขน รับฝากสัตว์เลี้ยงชั่วคราว
ดังนั้น จึงได้สั่งการให้สำนักงานเขตลงพื้นที่เพื่อตรวจประเมินกิจการที่เกี่ยวข้อง โดยมีเป้าหมายการตรวจประเมินเสร็จสิ้น 15 ก.ค. 67 แต่ก็มามีเหตุเพลิงไหม้ตลาดศรีสมรัตน์ ในวันที่ 11 มิ.ย. ที่ผ่านมา
"จากนี้ กทม. จะทำการสำรวจกิจการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ โดยจุดใหญ่ ๆ คือ สนามหลวง 2 และตลาดจตุจักร 2 มีนบุรี ซึ่งจะต้องชัดเจน ทำให้ละเอียด เพราะสัตว์เลี้ยงมีบทบาทสำคัญกับหลายครอบครัว ถ้าจะให้ขายต้องมั่นใจว่าสัตว์เลี้ยงจะอยู่ในที่ที่มีคุณภาพ" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า หลังจากนี้ต้องลุยเต็มที่ กทม. มีอาวุธคือใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หัวใจคือต้องมีข้อกำหนด มี Check List ที่ชัดเจนในการตรวจพิจารณาและควบคุมมาตรฐาน ไม่ใช่ใช้เพียงวิจารณญาณเจ้าหน้าที่ และต้องร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่มีความรู้เพื่อสร้างมาตรฐานร่วมกัน ซึ่งจะสามารถลดแรงปะทะกับผู้ประกอบการได้ด้วย
"ร้านที่จะประกอบกิจการเลี้ยง จำหน่ายสัตว์ ต้องขอใบอนุญาตจากกรมปศุสัตว์และกทม. รวม 2 ใบ รับรองว่าถ้าไม่ดีจริง กทม. ไม่ให้ผ่าน และในอนาคต หากตลาดไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้ว่าสัตว์จะปลอดภัย ก็จะไม่ให้เปิดตลาดขายสัตว์อีก" ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว
ด้าน น.ส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึงผลการสำรวจกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง (สุนัขและแมว) ใน กทม. ว่า จากการสำรวจตั้งแต่ปีที่แล้ว จนถึงวันที่ 16 ม.ค. 67 พบว่า มีกิจการที่เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง (สุนัขและแมว) จำนวน 233 แห่ง โดยมีการขอใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ จำนวน 6 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 227 แห่ง ส่วนการขออนุญาตประเภท ร.10 มีใบอนุญาต 30 แห่ง ไม่มีใบอนุญาต 36 แห่ง โดยเหตุผลที่มีใบอนุญาตกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพน้อย เนื่องจากเพิ่งได้รับการยืนยันจากกรมอนามัยในเรื่องข้อกฎหมาย ซึ่งต่อไปจะต้องมีการขอใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภท ตามประเภทกิจการ
นายโรเจอร์ โลหะนันท์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย กล่าวว่า เหตุครั้งนี้เป็นความหละหลวมของการบังคับใช้กฎหมายทั้งที่มีอยู่มาก่อนและที่มีเพิ่ม อยากให้เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย โดยขอให้ตลาดนัดสัตว์เลี้ยงมีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่ กทม. เข้าไปตรวจสภาพร้านค้าสัตว์เลี้ยง ไม่ให้ผิดสุขอนามัยสัตว์ รวมถึงต้องดูระบบป้องกันภัยของร้านจากเหตุรอบด้าน เช่น กรณีเกิดเพลิงไหม้ควรติดตั้งอุปกรณ์ใดบ้าง