โควิดยังไม่แผ่ว! ฤดูฝนพบผู้ป่วยเพิ่มต่อเนื่อง สธ.แนะอย่าชะล่าใจ แม้อาการไม่รุนแรง

ข่าวทั่วไป Monday June 17, 2024 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โควิดยังไม่แผ่ว! ฤดูฝนพบผู้ป่วยเพิ่มต่อเนื่อง สธ.แนะอย่าชะล่าใจ แม้อาการไม่รุนแรง

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยสถานการณ์ผู้ป่วยโรคโควิด-19 รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน แนะประชาชนหมั่นสังเกตอาการตัวเอง อย่าชะล่าใจ เพราะอาจแพร่เชื้อสู่กลุ่มเสี่ยงได้

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (9-15 มิ.ย.) พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล 2,881 ราย (เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 119 ราย) เป็นผู้ป่วยอาการรุนแรง ปอดอักเสบ 748 ราย ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 339 ราย เสียชีวิต 7 ราย

โควิดยังไม่แผ่ว! ฤดูฝนพบผู้ป่วยเพิ่มต่อเนื่อง สธ.แนะอย่าชะล่าใจ แม้อาการไม่รุนแรง

ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ผู้ที่มีอาการรุนแรงใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในช่วงสัปดาห์ก่อน จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย โดยในช่วงที่ผ่านมา มีรายงานการระบาดเป็นกลุ่มก้อนส่วนใหญ่ยังพบในโรงเรียน, เรือนจำ, ค่ายทหาร เนื่องจากมีการรวมตัวของกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้มากกว่าสถานที่อื่น ๆ

นพ.ธงชัย กล่าวว่า โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น จึงสามารถพบการระบาดได้ตลอดทั้งปี แต่อาจพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน และสายพันธุ์หลักที่กำลังระบาดเป็นสายพันธุ์ JN.1 และสายพันธุ์ลูกหลาน สอดคล้องกับสายพันธุ์ที่ยังคงมีการระบาดทั่วโลก ที่มีความสามารถในการแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น อาการไม่รุนแรง คล้ายไข้หวัดทั่วไป ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่หากไม่ระวัง จะทำให้แพร่เชื้อติดต่อกันได้ง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้เป็นช่วงเปิดเทอม จึงขอเน้นย้ำสถานศึกษาคัดกรองเด็กนักเรียนทุกเช้า หากพบมีอาการระบบทางเดินหายใจให้สวมหน้ากากอนามัย และแจ้งผู้ปกครองพาไปรับการรักษา หรือหากพบการป่วยเป็นกลุ่มก้อน ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ขอให้ประชาชนมีความตระหนัก แต่ไม่ตระหนก โดยแนะนำประชาชนที่มีอาการเสี่ยง เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ควรตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย ATK หากพบผลติดเชื้อ (ขึ้น 2 ขีด) ควรสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ แยกตัวไม่ใกล้ชิดกับผู้อื่น และรีบพบแพทย์โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 เนื่องจากหากกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ อาจมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้

สำหรับประชาชนทั่วไปที่ยังไม่มีอาการ สามารถป้องกันตนเองได้ ดังนี้

1. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์

2. หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่แออัด หรือกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก

3. สวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ

4. หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดคลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการระบบทางเดินหายใจ

5. หากมีอาการป่วย แต่ผลตรวจ ATK ยังไม่ติดเชื้อ ควรสวมหน้ากากอนามัยเมื่อใกล้ชิดกลุ่มเด็กเล็ก หรือกลุ่มเสี่ยง 608 เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อไปสู่ผู้สูงอายุ และเด็กเล็กในครอบครัว ซึ่งอาจทำให้มีอาการรุนแรง และการเสียชีวิตได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ