เมื่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ ถูกพัฒนาและใช้กันอย่างแพร่หลาย มักเกิดคำถามจากสังคมทั่วไปว่าเทคโนโลยีนั้น ๆ ควรต้องถูกควบคุมโดยกฎหมาย หรือหน่วยงานรัฐหรือไม่ อย่างไร ซึ่ง AI หรือปัญญาประดิษฐ์เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด มีความสามารถหลากหลาย จนส่งผลกระทบทั้งทางบวกและลบแทบทุกภาคส่วน โดยสหภาพยุโรป (EU) เป็นผู้นำในการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแล AI เป็นฉบับแรกของโลก
Artificial Intelligence Act ถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการใน EU ช่วงเดือน พ.ค.2567 ที่ผ่านมา โดยมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีกับการปกป้องประชาชนผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และสร้างความมั่นใจว่า AI จะถูกพัฒนาและใช้อย่างมีความรับผิดชอบโดยไม่กระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
ประเด็นที่น่าสนใจคือ กฎหมายดังกล่าวได้จัดประเภทของ AI ตามความเสี่ยงไว้ 4 ระดับ กล่าวคือ 1. ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้หรือต้องถูกจำกัด 2. ความเสี่ยงระดับสูง 3. ความเสี่ยงปานกลาง 4. ความเสี่ยงระดับต่ำ เช่น AI เพื่อการผ่าตัดหรือการก่อสร้างเป็น AI ที่ถูกจัดอยู่ในระดับความเสี่ยงสูง เนื่องจากงานดังกล่าวต้องไม่มีข้อผิดพลาด (ทางทฤษฎี) จึงควรต้องกำกับดูแลเข้มงวด หรือการใช้ AI เพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครงาน ซึ่งใช้อัลกอริทึมที่อาจละเมิดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานหรือสิทธิมนุษยชน เช่น ระบบการจัดหมวดหมู่บุคคลทางชีวมิติ หาความพิการหรือจดจำอารมณ์ความรู้สึก ก็จะถูกจัดอยู่ในระดับความเสี่ยงที่ต้องถูกจำกัดการใช้งาน
อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่ออกมาเพื่อกำกับดูแลเทคโนโลยีต่าง ๆ ในอดีตนั้น จะถูกบังคับใช้หรือตีความอย่างเข้มงวด ส่งผลต่อการพัฒนาและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีนั้น ๆ ซึ่งการที่ AI ถูกกำกับดูแล เป็นสัญญาณบ่งชี้ที่ชัดเจนกว่า AI จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หน่วยงานรัฐของไทยควรถือโอกาสนี้ศึกษากฎหมายดังกล่าวและนำมาปรับใช้เพื่อคุมครองประชาชน โดยไม่กระทบต่อการใช้และพัฒนาเทคโนโลยี และเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)