นายปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ในการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยเปิดเผยข้อมูลจากกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา ที่รายงานข้อมูลพบว่า มีเด็กไทยหลุดออกจากระบบการศึกษา ถึง 1.02 ล้านคน สาเหตุหลักมาจากความยากจน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเด็กยากจนอีกล้านคน ที่ยังไม่ได้เงินอุดหนุนใด ๆ และมีเด็กกลุ่มยากจนรุนแรงที่สุด ที่ได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาเพียง 12.46% เท่านั้น สาเหตุมาจากค่าใช้จ่ายในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบันที่สูงมาก
นายปารมี กล่าวว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กำลังขาดสภาพคล่อง และมีการขอรับการจัดสรรงบประมาณครั้งแรกในหลาย 10 ปี โดยปีนี้มีการเสนอคำของบประมาณปี 67 มา 1.9 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลจัดสรรงบให้ 800 ล้านบาท และในงบประมาณปี 68 มีการเสนอคำของบประมาณมา 5,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลกลับไม่จัดสรรงบประมาณให้
"รัฐบาลเพิกเฉยต่อสภาพคล่องของ กยศ. และไม่จัดสรรให้อย่างเพียงพอ กยศ.อาจจำเป็นต้องตัดเงินกู้ยืมที่จะให้กับเด็กในปีการศึกษานี้ และถ้าปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข อาจต้องมีการตัดเงินของเด็กที่เข้าโครงการไปแล้ว และอาจไม่ได้เรียนต่อ และต้องหยุดเรียนกลางคัน ทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา" นายปารมี กล่าว
พร้อมอภิปรายต่อว่า ขณะนี้ในระบบการศึกษายังมีปัญหาขาดแคลนครูในชนบท เนื่องจากครูในชนบทต้องรับภาระงานจำนวนมาก ตั้งแต่ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนถึงภารโรง แต่ได้เงินเดือนเท่ากับครูในเมือง ดังนั้นจึงทำให้ครูชนบทขอย้ายเข้ามาในเมือง และทำให้พบปัญหาการทุจริต
"หากครูคนไหนต้องการย้ายไปโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง ก็ต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ กิโลเมตรละ 1 แสนบาท โดยเป็นการวัดระยะทางจากโรงเรียนเก่า ไปโรงเรียนใหม่" นายปารมี ระบุ
โดยได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาด้านการศึกษา ประกอบด้วย 1.ต้องช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกนอกระบบอย่างเร่งด่วน 2.การศึกษาขั้นพื้นฐานต้องฟรีจริง 3.เพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจครูให้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก 4.ปฏิรูปหลักสูตร และสร้างการศึกษาไร้รอยต่อ 5.อุดหนุนค่าใช้จ่ายในการเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS และ 6.จัดสรรงบประมาณให้ กยศ. อย่างเพียงพอ
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงเรื่องการบริหารจัดการของ กยศ. ว่า จากการหารือร่วมกับสำนักงบประมาณแล้ว ยังสามารถบริหารจัดการกองทุนกยศ.ได้ ภายใต้เงินของกองทุนที่มีอยู่ภายใต้งบประมาณ 800 ล้านบาท แต่หากงบไม่พอ จะมีกลไกอื่น ๆ รองรับ คือ งบกลาง
นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า จะไม่มีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษาที่เกิดจากการไม่สามารถกู้ยืมจากกยศ.ได้ โดยยังตั้งเป้ามีนักเรียน นักศึกษากู้ยืม 6.2 แสนราย แบ่งเป็น กลุ่มกู้ยืมเก่า 75% และกลุ่มใหม่ 25% และยังมีประเด็นที่ต้องบริหารจัดการคือ การคืนเงินให้กับผู้กู้ยืมเงิน คิดเป็นเงินกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากกฎหมายที่แก้ไขเรื่องเบี้ยปรับที่ลดลง จาก 18% เหลือ 0.5% ทำให้ต้องคำนวณเงินชำระคืนใหม่ แต่ทั้งนี้ ยังอยู่ในกรอบที่สามารถบริหารจัดการได้
"กยศ. กลายเป็นเป้าสุดท้ายที่ผู้กู้จะคืนเงิน เพราะไม่โดนฟ้อง ไม่มีค้ำประกัน และดอกเบี้ยถูกสุด ทำให้เกิดปัญหาตามมา คือ การบริหารจัดการ แต่ขณะนี้ยังไม่มีแนวคิดปรับแก้กฎหมาย เพราะมีการปรับแก้กฏหมายมาจากสมัยสภาที่แล้ว จึงต้องรับโจทย์มาบริหาร เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้กู้" รมช.คลัง กล่าว
พร้อมระบุว่า ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปให้หาวิธีจูงใจให้ผู้กู้นำเงินมาชำระคืน กยศ. โดยได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับธนาคารของรัฐ เช่น ถ้าชำระดีกับกยศ. ถือเป็นลูกค้าที่สามารถได้สิทธิกู้เงินสถาบันการเงินอื่น และมีโอกาสได้รับเงินกู้ที่มากขึ้นและง่ายขึ้น ดอกเบี้ยที่ผ่อนปรนลง เป็นต้น