นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือเพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รายงานว่ามีโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมฉับพลัน เพราะปีนี้ปริมาณฝนมีมากกว่า 60 มิลลิเมตร/ชม. เช่น กรุงเทพฯ อาจจะเกิดน้ำขัง รอการระบาย ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำมีแนวโน้มน้ำท่วมแน่นอน แต่ สทนช.ได้มีการเตรียมการไว้ล่วงหน้าแล้ว
ขณะที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) รายงานภาพรวมของกรุงเทพฯ ว่า มีทั้งหมด 1,968 ชุมชน มีปัญหาน้ำท่วม 126 ชุมชุน ทั้งหมดได้ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จ และตัวชี้วัดได้มีการกำหนดชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาให้ตรงจุด ขณะนี้เหลือการลอกท่อ กำจัดผักตบชวา และขุดลอกคูคลองบางส่วน ซึ่งอาจจะต้องขอการสนับสนุนจากกองทัพเรือเกี่ยวกับเรือผลักดันน้ำ และจากกรมชลประทานให้ช่วยสนับสนุนเรื่องการระบายน้ำในคลองเปรมประชากร ซึ่งก่อนหน้านี้ กรมราชทัณฑ์ได้เข้ามาช่วยเหลือด้วย
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า กระทรวงทรัพย์ฯ ได้ประชุมซ้อมการปฏิบัติ ก่อน เกิด หลังเกิด มีการสำรวจพื้นที่สุ่มเสี่ยง พบว่าเป็นพื้นที่ป่า มีการซักซ้อมประชาชนไปในพื้นที่ปลอดภัย และเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ส่วน ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ได้ถอดบทเรียนจากทุกปี ทั้งปี 54 และปี 65 โดยสิ่งที่ถอดบทเรียนมาแล้วนั้น ควรมีการประชุมและบูรณาการ พร้อมตั้งศูนย์ส่วนหน้าฯ ในแต่ละภาค เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้น
ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เสนอให้มีการทดลองตั้งศูนย์ส่วนหน้าฯ ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้รับทราบแนวทาง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในช่วงท้าย โดยขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันวางแผน และกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน รวมถึงมีตัวชี้วัดที่มีคุณภาพ และเตรียมความพร้อมสำหรับรับมือสถานการณ์น้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อทำให้เกิดน้ำท่วมน้อยที่สุด ขณะเดียวกันต้องตรวจดูความแข็งแรงของประตูระบายน้ำด้วย
"รัฐบาลพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ดังนั้น ต้องทำงานกันให้รอบคอบ และคอยประสานงานกันทุก ๆ ฝ่ายให้มีเอกภาพมากที่สุด" นายกรัฐมนตรี กล่าว