นายจักรพงษ์ แสงมณี รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมแถลงข่าวที่สนามบินสุวรรณภูมิ ถึงผลการจับกุมตัว "นายชนินทร์ เย็นสุดใจ" อดีตผู้บริหาร บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) และผู้ต้องหาคดีฉ้อโกงหุ้น STARK
นายจักรพงษ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนต.ค.66 รัฐบาลได้เร่งดำเนินการเพื่อจะนำตัวนายชนินทร์ กลับมาดำเนินคดีให้ได้ จนกระทั่งถึงวันนี้ รวมใช้เวลากว่า 8 เดือน จึงสามารถนำตัวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยได้ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงยุติธรรม, ดีเอสไอ, อัยการสูงสุด, กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งคดีนี้ถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญต่อตลาดทุนไทย
"รวมใช้เวลากว่า 8 เดือน ตั้งแต่กระบวนการหาตัวว่าหลบหนีไปที่ไหน อยู่ประเทศใดบ้าง มีการดำเนินการอย่างละเอียดอ่อน เพราะเกี่ยวกับเรื่องต่างประเทศด้วย เป็นความร่วมมือหลายหน่วยงาน...ซึ่งกรณีนี้ จะเป็นบทเรียนสำคัญของตลาดทุนไทย ที่ ก.ล.ต.จะนำไปปรับปรุงเรื่องการดำเนินการให้โปร่งใส และการตรวจสอบได้ของตลาดทุนไทย" นายจักรพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ คดีของ บมจ.สตาร์คฯ ได้รับความสนใจในวงกว้าง โดยพบเห็นการทุจริตเกิดขึ้นราวกลางปี 66 ซึ่งนายชนินทร์ ได้หลบหนีไปในช่วงเวลานั้น จากนั้นในช่วงเดือนก.ย.66 เป็นช่วงที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้เริ่มเข้ามาบริหารประเทศ จึงมีความพยายามจะหยิบยกเรื่องคดีขึ้นมาดำเนินการ โดยมอบหมายให้ตน ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่ง รมช.ต่างประเทศ ดำเนินการอย่างเป็นความลับ เพื่อนำตัวนายชนินทร์ กลับมาประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เพราะคดีนี้ส่งผลกระทบต่อนักลงทุน เป็นกรณีที่ประชาชนให้ความสนใจ และเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อตลาดทุนของไทย
นายจักรพงษ์ กล่าวต่อว่า ได้เคยเดินทางไปยูเออี 2 รอบ เพื่อติดตามเรื่องนี้ เนื่องจากทราบดีว่ามีความยากลำบากเรื่องการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน โดยนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญคดีนี้มาก จึงได้เดินทางเป็นการส่วนตัวถึง 2 ครั้ง เพื่อประสานงานกับรัฐบาลยูเออีว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับคดีนี้มาก
"กระบวนการหลังจากนี้ จะนำตัวนายชนินทร์ไปที่ดีเอสไอ การจับกุมครั้งนี้ ถือเป็นภารกิจลับ ได้มีการพูดคุยกับหน่วยงานราชการของดูไบ ซึ่งได้ช่วยอำนวยความสะดวก และส่งข้อมูลกลับมาให้ และทางดีเอสไอได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปที่ดูไบ เพื่อนำตัวนายชนินทร์ กลับมา" รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
พร้อมระบุว่า ได้มีการพูดคุยเบื้องต้นกับนายชนินทร์ ซึ่งนายชนินทร์ได้ร้องขอเรื่องความยุติธรรมและความปลอดภัย เนื่องจากโดนคุกคามในช่วงที่หลบหนีอยู่ต่างประเทศ
สำหรับการใช้ชีวิตของนายชนินทร์ ในต่างประเทศนั้น ไม่ได้ใช้ชีวิตตามปกติ แต่ใช้วิธีการถือพาสปอร์ตนักท่องเที่ยว ส่วนจะมีใครให้ความช่วยเหลือขณะหลบหนีอยู่ในต่างประเทศนั้น ตนไม่ทราบ คงจะต้องสอบสวนกันต่อไป
ส่วนหลักฐานทางคดีที่มีจะสามารถดำเนินการเอาผิด และนำเงินมาคืนให้กับผู้เสียหายในคดีหุ้น STARK ได้หรือไม่นั้น นายจักรพงษ์ กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ ทางดีเอสไอจะเป็นผู้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม การที่มาแถลงข่าววันนี้เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจกับประชาชน ว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องนำตัวผู้ต้องหาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมให้เร็วที่สุด
ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาการอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึงกระบวนการหลังจากนี้ว่า จะนำตัวผู้ต้องหาไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อแจ้งข้อกล่าวหา แจ้งสิทธิที่ผู้ต้องหาสามารถพบทนายได้ และมีสิทธิได้รับการเข้าเยี่ยมตามกฎหมาย จากนั้นจะพิมพ์ลายนิ้วมือ และควบคุมตัว ก่อนที่จะนำส่งอัยการในช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ (24 มิ.ย.) ซึ่งพนักงานสอบสวนมีสิทธิคัดค้านการประกันตัว แต่ทั้งนี้ อำนาจการพิจารณาจะอยู่ที่ศาล
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การนำตัวนายชนินทร์ กลับมามายังประเทศไทย ถือเป็นอาชญากรทางเศรษฐกิจที่สามารถนำกลับเข้ามาได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ และเป็นการดำเนินการตามคำสั่งของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการตั้งแต่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ ช่วงเดือนต.ค.66