ครั้งแรกในไทย! ระบบ Cell Broadcast Service แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา

ข่าวทั่วไป Wednesday July 3, 2024 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ครั้งแรกในไทย! ระบบ Cell Broadcast Service แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยเคยประสบภัยพิบัติทั้งจากภัยธรรมชาติ อุบัติภัย และภัยจากคนร้าย ส่งผลให้สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ยิ่งทำให้ภัยธรรมชาติรุนแรงและถี่ขึ้น โดยปัจจุบันเราเข้าสู่ยุค "โลกเดือด" หรือ "Global Boiling" ซึ่งอาจนำมาสู่ภัยคุกคาม และผลกระทบที่คาดไม่ถึง

บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำของประเทศที่มีผู้ใช้บริการมากกว่า 50 ล้านเลขหมาย จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา ในการพัฒนาระบบ Cell Broadcast Service (CBS) ขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชน โดยทรู คอร์ปอเรชั่นทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast ในห้องทดสอบปฏิบัติการ (Lab test) เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 15 ม.ค.67 โดยมีจุดเด่นสำคัญหลายประการ ได้แก่

ครั้งแรกในไทย! ระบบ Cell Broadcast Service แจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน 5 ภาษา
  • รองรับทุกภาษา: ระบบสามารถออกแบบการแจ้งเตือนได้ทุกภาษา และออกแบบส่งพร้อมกันได้ทันที โดยทดสอบแล้ว 5 ภาษา ไทย อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย
  • รวดเร็ว: สามารถส่งข้อความเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วทันทีที่เกิดเหตุ
  • แม่นยำ: สามารถกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการส่งข้อความได้อย่างแม่นยำ
  • ครอบคลุม: สามารถส่งข้อความถึงผู้ใช้บริการทุกคนในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนล่วงหน้า
  • น่าเชื่อถือ: เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับและใช้งานในหลายประเทศทั่วโลก

นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร TRUE กล่าวว่า การพัฒนาระบบ Cell Broadcast Service นี้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 11 ว่าด้วยการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทาน และยั่งยืน

ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Cell Broadcast ของ TRUE สามารถตั้งระดับการเตือน 5 ระดับตามฟังก์ชั่นการใช้งานและร่วมมือกับภาครัฐ ประกอบด้วย:

1. การแจ้งเตือนระดับชาติ (National Alert): การแจ้งเตือนระดับสูงสุด ความสำคัญมากสุด และทุกคนในทุกพื้นที่เสาสัญญาณครอบคลุมจะทราบเหตุทันที

2. การแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน (Emergency Alert): การแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภัยสึนามิ แผ่นดินไหว น้ำท่วมฉับพลัน หรือภัยจากคนร้าย เป็นต้น

3. การแจ้งเตือนคนหาย (Amber Alert): ระบบตั้งเตือนข้อมูลเมื่อมีเด็กหายหรือคนหาย รวมทั้งการลักพาตัว เพื่อให้ประชาชนทราบข่าวเฝ้าระวัง และช่วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐสังเกตการณ์ และรายงานถ้าพบคนหายหรือคนร้าย

4. ความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety): ระบบการแจ้งเตือนความปลอดภัยสาธารณะในพื้นที่ หรือการเฝ้าระวังกรณีแจ้งคนที่อยู่อาศัย ชุมชน และผู้สัญจรผ่านพื้นที่นั้น

5. การแจ้งเตือนทดสอบ (Test Alert): ระบบทดสอบการแจ้งเตือนตามวัตถุประสงค์เฉพาะกิจต่างๆ โดยสามารถใช้งานเพื่อทดสอบก่อนขยายผลสู่การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนในระดับต่างๆ ต่อไป

นอกจากนี้ TRUE ยังได้พัฒนาศูนย์ปฏิบัติการเครือข่ายอัจฉริยะ Business and Network Intelligence Center (BNIC) ที่ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการเมื่อเกิดภัยพิบัติ เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ามากกว่า 50 ล้านเลขหมาย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบ CBS ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

"ทรู คอร์ปอเรชั่น มีความเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เราจะสามารถสร้างสังคมที่ปลอดภัย และพร้อมรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาระบบ Cell Broadcast Service นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัยและการเตือนภัยของประเทศไทย เราหวังว่าระบบนี้จะช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนชาวไทย และนักท่องเที่ยวได้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต" นายมนัสส์ กล่าว

การทดสอบอีกระดับของ "LIVE - Cell Broadcast Service" ที่แจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือกับผู้ใช้งานจริงครั้งแรกในไทย โดยทรู คอร์ปอเรชั่น นับเป็นก้าวสำคัญของประเทศไทย ในการยกระดับมาตรการรักษาความปลอดภัย และการเตือนภัยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ และเป็นความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยของประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่อประเทศไทยในระยะยาว

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดีอี กล่าวว่า รัฐบาลคาดจะนำระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิกผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ ระบบ Cell Broadcast Service (CBS) มาใช้ในช่วงปีใหม่ที่จะถึงนี้ ทั้งระบบ iOS และ android


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ