นิด้าโพล เผยคนส่วนใหญ่ไม่สน "หวยเกษียณ" ชี้มอมเมา-ไม่ตอบโจทย์การออม

ข่าวทั่วไป Sunday July 7, 2024 10:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นิด้าโพล เผยคนส่วนใหญ่ไม่สน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจความเห็นของประชาชน เรื่อง "จะออมเงิน?ต้องซื้อหวยเกษียณ!"

โดยเมื่อถามถึงความสนใจของประชาชน ในการซื้อหวยเกษียณที่จะออกโดยกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) พบว่า

ตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.34% ระบุว่า ไม่สนใจเลย

รองลงมา 21.07% ระบุว่า ค่อนข้างสนใจ

ส่วนอีก 17.02% ระบุว่า ไม่ค่อยสนใจ

และอีก 15.42% ระบุว่า สนใจมาก

ด้านความคิดเห็นของประชาชน ต่อโครงการจำหน่ายหวยเกษียณเพื่อส่งเสริมการออม พบว่า

ตัวอย่างส่วนใหญ่ 30.99% ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะเป็นการมอมเมาให้ประชาชนเสพติดการพนัน หวยเกษียณไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ

รองลงมา 26.34% ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะเป็นทางเลือกการออมที่น่าสนใจ เป็นการออมเพื่อลุ้นรางวัล และเป็นเงินออมไว้ใช้ในอนาคตได้

ส่วนอีก 25.80% ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะเป็นแรงจูงใจในการเก็บออมให้แก่ประชาชน สามารถซื้อหวยแบบออนไลน์ได้ทำให้สะดวก

และอีก 16.87% ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะระยะเวลาที่จะสามารถถอนเงินคืนได้ยาวนานเกินไป มีจำนวนรางวัลไม่มาก และเงินรางวัลน้อย

สำหรับความคิดเห็นของประชาชน ต่อการจำกัดการจำหน่ายหวยเกษียณเฉพาะกลุ่มสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และแรงงานนอกระบบ พบว่า

ตัวอย่าง 36.16% ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย

รองลงมา 22.55% ระบุว่า เห็นด้วยมาก

ส่วนอีก 21.08% ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย

ขณะที่ 18.75% ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการจำกัดการซื้อหวยเกษียณ ไม่เกิน 3,000 บาท/เดือน พบว่า

ตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.41% ระบุว่า เหมาะสมดีแล้ว

รองลงมา 35.72% ระบุว่า ไม่ควรจำกัดวงเงินการซื้อหวยเกษียณเลย

ส่วนอีก 10.54% ระบุว่า เห็นด้วยกับการจำกัดการซื้อหวยเกษียณ แต่ควรที่จะน้อยกว่า 3,000 บาท/เดือน

และอีก 6.74% ระบุว่า เห็นด้วยกับการจำกัดการซื้อหวยเกษียณ แต่ควรที่จะมากกว่า 3,000 บาท/เดือน

เมื่อถามถึงหน่วยงานภาครัฐที่ควรเป็นผู้ดำเนินโครงการหวยเกษียณ พบว่า

ตัวอย่างส่วนใหญ่ 39.09% ระบุว่า ธนาคารของรัฐ

รองลงมา 33.82% ระบุว่า กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)

ขณะที่ 22.55% ระบุว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล

ทั้งนี้ ผลสำรวจดังกล่าว มาจากความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ รวมทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-3 กรกฎาคม 2567


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ