ก.ทรัพย์ฯ แจงปมร้อน "เพิกถอนพื้นที่ อช.ทับลาน" อยู่ระหว่างประชาพิจารณ์ พร้อมรับฟังเสียงค้าน

ข่าวทั่วไป Tuesday July 9, 2024 12:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน 265,286.58 ไร่ ออกจาการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ถึงวันที่ 12 ก.ค.67 ในเรื่องการใช้เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มี.ค.66 โดยการปรับปรุงแผนที่ตามแนวเขตใหม่ในโครงการวันแมป (One Map) ซึ่งจะทำให้พื้นที่ "อุทยานแห่งชาติทับลาน" ลดลง กลายเป็นประเด็นร้อนบนโลกโซเชียล ที่พร้อมใจติดแฮชแทก #SAVEทับลาน เพื่อคัดค้านการเพิกถอนออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีชาวบ้านอยู่ประมาณ 50,000 ไร่ ส่วนตัวเลข 2.6 แสนไร่ เป็นพื้นที่เขตอุทยานทับลานทั้งหมด ไม่ใช่ที่ดินทำกินทั้งหมด ทั้งนี้คณะกรรมการอุทยานฯ จะเป็นผู้พิจารณา

พล.ต.อ.พัชรวาท ย้ำว่า จะเร่งรัดให้พิจารณาภายใน 30 วัน ส่วนกระแสข่าวที่ประชาชนทั้งประเทศไม่เห็นด้วยก็พร้อมรับฟัง แล้วนำมาพิจารณาภายหลัง โดยขั้นตอนกระบวนการทำประชาพิจารณ์จะแล้วเสร็จในวันที่ 12 ก.ค.67

ด้าน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กรณีอุทยานแห่งชาติทับลาน เกิดขึ้นในรัฐบาลหลายยุค แต่มาสรุปต้นปี 2566 ในรัฐบาลยุคที่แล้ว เรื่องการปรับแนวเขตปี 2543 โดยหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องไปดำเนินการโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งขณะนี้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่

ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ขอให้เข้าใจว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ขออย่านำมาผสมผสานจนเข้าใจผิด ในฐานะที่ตนกำกับดูแลสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับนโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) หาก สคทช. เห็นชอบอย่างไร ก็จะนำเสนอต่อครม. เมื่อเห็นชอบให้ สปก.นำไปจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกรทำกินก็จะนำไปปฏิบัติ

ส่วนจำนวนที่ดินที่ทับซ้อนประมาณ 150,000 ไร่ ในจำนวนนี้ พบว่ามีของนายทุนและชาวบ้านนั้น ที่ดินเหล่านี้กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีคณะกรรมการตรวจสอบ และจำแนกชัดเจน ว่าตรงไหนที่ประชาชนร้องเรียนมา ไม่ใช่เหมารวมทั้งหมด จนนำไปสู่การประชุมของการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน (คนช.) และย้ำว่า ต้องมีการจำแนกให้ชัดเจนถึงแนวเขตว่าตรงไหนควรอนุอนุรักษ์เป็นป่า ตรงไหนที่ชาวบ้านอยู่อยู่แล้ว หลายคนที่ออกมานำเสนอ ก็มีข้อมูลที่ถูกต้องเพียงแต่ต้องเข้าใจก่อนว่า กรณีนี้เป็นการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน มีมาตรการและขั้นตอนอยู่

ส่วนที่หลายคนกังวลว่าหากมีการออกแนวเขต จะเป็นการนิรโทษกรรมนายทุนทั้งหมดนั้น ร.อ.ธรรมนัส กล่าวว่า ต้องจำแนกให้ชัดเจนว่าอะไรคือกลุ่มทุน อะไรคือเกษตรกร

พร้อมยืนยันว่า นี่ไม่ใช่การงัดข้อกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะเรื่องนี้มีการคุยกันตลอด และตนเองก็ได้หารือกันกับทุกฝ่าย ทั้ง รมว.และปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีปัญหาอะไร ยังไม่ถึงกระบวนการที่ สปก.จะเข้าไปดำเนินการ

"ขอให้ใจเย็นๆ เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการทำประชาวิจารณ์อยู่" ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาอุทยานแห่งชาติทับลานว่า เรื่องนี้เป็นมติจากคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกำกับดูแล เป็นเรื่องของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติที่ต้องไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้องปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง และสิ่งสำคัญ คือ ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนจะมีการเพิกถอน ซึ่งมีหลายกระบวนการที่ต้องดำเนินการตามกฏหมายและนำเสนอ ครม.ต่อไป

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องยกเลิกมติ ครม.ปี 66 เพราะยังอยู่ระหว่างการศึกษาต้องดูให้ครบถ้วนก่อน แต่ยอมรับว่า เรื่องของ ONE MAP ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาตรงส่วนนี้ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ