น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ และสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแจ้งและการออกใบรับรองและอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ. ... ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
เนื่องจากกฎกระทรวงเมื่อ พ.ศ. 2540 ไม่ได้กำหนดว่าสารที่ใช้ในการปรุงแต่งชนิดใดเป็นสารต้องห้าม และไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การควบคุมปริมาณของสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาสูบไว้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่การผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีการเติมสารที่ใช้ในการปรุงแต่งหลายชนิด รวมถึงไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO)
โดยร่างกฎกระทรวงดังกล่าว มีสาระสำคัญดังนี้
1.กำหนดให้ผู้ผลิต หรือผู้นำเข้า ผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต และบุหรี่ซิการ์ ที่จะขายในราชอาณาจักร ต้องแจ้งรายการส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบและสารที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้
2.กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ต้องไม่มีสารที่ใช้ในการปรุงแต่ง สารที่ทำให้เกิดสีอันอาจจูงใจ หรือดึงดูดให้บริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบ สารที่ทำให้เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์ยาสูบมีประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือลดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสารที่ทำให้เข้าใจว่าเพิ่มพลังงาน และความมีชีวิตชีวา
3.กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ต้องมีปริมาณสารที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่เกินปริมาณที่กำหนด ได้แก่ (1) ทาร์ ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อมวน (2) นิโคติน ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อมวน และ (3) คาร์บอนมอนอกไซต์ ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อมวน
4.กำหนดให้การดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ ดำเนินการด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
5.กำหนดให้ใบรับรองมีอายุ 3 ปี กรณีต้นฉบับใบรับรองชำรุด สูญหาย หรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ยื่นคำขอรับใบแทนใบรับรอง ภายใน 15 วัน และให้ใบแทนใบรับรอง มีอายุเท่ากับระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามต้นฉบับใบรับรอง
6.กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลส่วนประกอบ และสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ในกรณีที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยหรือความปลอดภัยของสาธารณชน
7.กำหนดค่าธรรมเนียมใบรับรองอัตราฉบับละ 100,000 บาท และใบแทนใบรับรองอัตราฉบับละ 2,000 บาท
8.กำหนดให้กฎกระทรวงมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา และภายในระยะเวลา 4 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้บังคับใช้ ให้ยกเว้นการควบคุมสารที่ใช้ในการปรุงแต่ง และการควบคุมปริมาณสารที่เกิดจากการเผาไหม้ของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบ ปรับตัวเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย