การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทยอย่างรุนแรงเป็นวงกว้าง จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบทั้งเชิงเศรษฐกิจของภาคการประมง และในเชิงความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศแหล่งน้ำจืดและ น้ำกร่อย เนื่องจากลักษณะเฉพาะของปลาชนิดนี้มีความสามารถในการปรับตัวให้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการแย่งชิงแหล่งอยู่อาศัยกับปลาท้องถิ่น และมีพฤติกรรมการกินอาหารได้ในวงกว้าง รวมถึงอัตราการแพร่พันธุ์ที่รวดเร็วมาก เมื่อปลาหมอคางดำหลุดรอดลงสู่บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำหรือแหล่งน้ำใดก็ตาม ส่งผลทำให้ปลาชนิดอื่น ๆ ลดจำนวนลงและปลาหมอคางดำกลายเป็นชนิดหลักในแหล่งน้ำนั้นแทน
จากปัญหาดังกล่าว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญและมีข้อสั่งการให้กรมประมงเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำธรรมชาติ ผ่าน 5 มาตรการสำคัญ ดังนี้
1. การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการระบาด
2. การปล่อยปลาผู้ล่า เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกง เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ
3. เป็นการนำปลาหมอคางดำที่กำจัดได้ไปใช้ประโยชน์
4. การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติตามพื้นที่กันชนต่าง ๆ
5. การประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำให้กับทุกภาคส่วน
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ปัจจุบันมีการพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำแล้ว 14 จังหวัด โดยกรมประมงได้สั่งการให้ทุกจังหวัดที่พบปัญหาการแพร่ระบาด จัดทำร่างแผนปฏิบัติการ และงบประมาณในการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในพื้นที่ให้สอดคล้องกับ 5 มาตรการสำคัญของกรมประมง เพื่อเร่งดำเนินการตามแผนทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังเน้นการส่งเสริมให้เกษตรกรชาวประมงนำปลาหมอคางดำจากแหล่งน้ำธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ อาทิ แปรรูปเป็นปลาแดดเดียว ปลาป่น หมักทำน้ำปลา หมักทำปุ๋ยชีวภาพ และใช้เป็นปลาเหยื่อหรืออาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งปัจจุบันมีการแปรรูปไปแล้วกว่า 500 ตันทั่วประเทศ โดยกรมประมงและหน่วยงานในพื้นที่ จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่ถูกต้องในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ และหาช่องทางการขายและกระจายสินค้าเพิ่มขึ้นต่อไปในอนาคต อาทิ ร้านสะดวกซื้อ Modern Trade เพื่อสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรชาวประมงทั่วประเทศ เป็นการพลิกวิกฤตสร้างโอกาสต่อไป
"กรมประมงขอขอบคุณประชาชนที่ตื่นตัวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และต้องขอทำความเข้าใจผ่านสื่อต่าง ๆ ไปยังพี่น้องประชาชนอีกครั้งว่า ปลาหมอคางดำไม่ใช่ปลาอันตราย ไม่มีพิษ และสามารถบริโภคได้ ที่สำคัญยังใช้ประโยชน์ได้หลายประเภท ซึ่งจะช่วยในส่วนของการควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ และนอกจากนี้การลดการเกิดของประชากรปลาหมอคางดำก็เป็นสิ่งที่กรมประมงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นการตัดตอนปัญหาตั้งแต่ต้น กรมประมงได้เริ่มดำเนินโครงการวิจัยการเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4n ในปลาหมอคางดำ และคาดว่าหากสัมฤทธิ์ผลจะสามารถแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำได้อย่างชัดเจนภายใน 3 ปี" นายบัญชา กล่าว