นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แนะนำประชาชนใช้แอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" ซึ่งเป็นแอปที่รวบรวมบริการของภาครัฐไว้มากที่สุด เป็นเสมือนศูนย์กลางบริการของภาครัฐที่มีให้เลือกใช้กว่า 83 บริการในแอปเดียว โดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (DGA) ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรมากมายรวมการให้บริการภาครัฐมารวมไว้แบบไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง หรือต้องไปรอต่อคิวที่หน่วยงาน ไม่ว่าจะจ่ายค่าน้ำ, ค่าไฟ, แจ้งเตือนใบขับขี่หมดอายุ, แจ้งเตือนวันต่อภาษีรถยนต์, ตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาล, สิทธิประกันสังคม, เช็คเงินสะสมประกันสังคม, ไปจนถึงจ่ายค่าปรับใบสั่ง และในอนาคตจะมีเพิ่มบริการมากขึ้นอีก
นายคารม กล่าวว่า ด้วยความที่เป็นบริการที่ต้องเชื่อมข้อมูลไปยังหน่วยงานต่าง ๆ จึงจะต้องมีการยืนยันตัวตนหลายระดับ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นได้เลยว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นจะเก็บเพื่อให้บริการได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565 ดังนั้นจึงมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในการจัดการข้อมูลได้อย่างแน่นอน
สำหรับการลงทะเบียนนั้นแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" จะมีการยืนยันตัวตน 2 ระดับ ดังนี้
ระดับที่ 1 การยืนยันตัวผ่านการถ่ายบัตรประชาชนลงในแอปพลิเคชัน ในการยืนยันตัวตนนี้จะสามารถใช้บริการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐได้ทันที ซึ่งขั้นตอนนี้ง่ายมาก เพียงถ่ายรูปบัตรประชาชน และถ่ายภาพหน้าตรงตามขั้นตอนที่ระบุในแอปพลิเคชัน ก็สามารถเข้าใช้งานบริการได้เลย
ระดับที่ 2 การยืนยันตัวตนผ่านทางจุดให้บริการยืนยันตัวตน สำหรับในบางบริการที่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องพิสูจน์ตัวตนเพิ่มเติม อย่างเช่น การตรวจสอบเครดิตบูโร ทางแอปพลิเคชันจะต้องขอยกระดับการพิสูจน์ตัวตนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการยืนยันว่าเจ้าของบัตรประชาชนกับผู้ที่ยืนยันตัวตนเป็นคนเดียวกัน
โดยการยืนยันตัวตนนั้นสามารถทำได้ผ่าน 5 ช่องทางดังนี้
1.ตู้บริการอเนกประสงค์ภาครัฐ จะเป็นตู้คีออส ที่ให้บริการทั้งด้านข้อมูลและการลงทะเบียนต่างๆ ซึ่งตู้นี้จะสามารถใช้ในการยืนยันตัวตนกับแอปพลิเคชัน ทางรัฐ ได้ โดยจะต้องเตรียมบัตรประชาชนและโทรศัพท์มือถือเพื่อดำเนินการยืนยันตัวตน เมื่อได้ยืนยันตัวตนตามขั้นตอนที่แจ้งผ่านตู้แล้ว จะได้รับ QR Code เพื่อสแกนใช้งานแอปพลิเคชันทางรัฐ ถือว่าการยืนยันเสร็จเรียบร้อยภายในเวลาแปบเดียว
สำหรับวิธีการยืนยันตัวตนผ่านตู้บริการเอนกประสงค์ของภาครัฐ ทำได้โดยการเตรียมบัตรประชาชนให้พร้อม จากนั้นเสียบบัตรเข้าไปที่ตู้บริการ เลือกเมนูเปิดใช้งาน "ทางรัฐ" แล้วทำตามวิธีบนหน้าจอ เท่านั้นก็สามารถยืนยันตัวได้เรียบร้อย
2.แอปพลิเคชันจากกรมการปกครอง ที่พัฒนาขึ้นเพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ในชื่อว่า D.DOPA ก็เป็นอีกช่องทางที่สามารถยืนยันตัวได้ง่ายๆ นอกจากจะใช้ยืนยันตัวตนกับแอปทางรัฐแล้ว แอปนี้ยังสามารถจองคิวใช้บริการกับทางภาครัฐอย่างสำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นทั่วประเทศได้อีกด้วย
สำหรับการยืนยันตัวตนแอปทางรัฐด้วย D.DOPA หากเคยลงทะเบียนใช้บริการกับทางแอป D.DOPA ก็สามารถลงทะเบียน "ทางรัฐ" ด้วยการกดที่ปุ่ม "เข้าสู่ระบบด้วย D.DOPA" ได้เลย
3.ตู้บุญเติม เป็นอีกช่องทางที่สะดวกยิ่งขึ้นด้วยการยืนยันตัวตนผ่านตู้บุญเติม เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้สังเกตตู้บุญเติมที่มีกล้องเล็กๆ ติดอยู่ที่ด้านบนของตู้ จะมีให้บริการยืนยันตัวตน e-KYC ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการกว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ วิธีการยืนยันตัวตนผ่านตู้บุญเติม เพียงแค่เตรียมบัตรประชาชนและโทรศัพท์มือถือให้พร้อม จากนั้นเลือกเมนู "ทางรัฐ" บนหน้าจอ ตู้ก็จะแนะนำให้เสียบบัตรประชาชนเพื่อยืนยันตัวตน และระบบจะส่ง SMS เพื่อดำเนินการต่อในแอปพลิเคชันทางรัฐได้ทันที
สำหรับตู้บุญเติมได้มีการเปิดให้บริการทั่วประเทศ โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับตู้บุญเติมใกล้บ้านได้ทาง Call Center 1220 หรือสามารถตรวจสอบตู้บุญเติมที่สามารถยืนยันตัวตนใกล้บ้าน ได้ที่เมนู "สมัครที่ตู้บุญเติม" บนแอปทางรัฐ
4.ไปรษณีย์ไทยทุกสาขา เราสามารถยืนยันตัวตนได้ผ่านที่ทำการไปรษณีย์ไทยทุกสาขา โดยเตรียมบัตรประชาชนและโทรศัพท์มือถือ และแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ได้เลยว่าต้องการยืนยันตัวตันแอปพลิเคชันทางรัฐ หลังจากนั้นจะได้รับ SMS ที่ส่งลิงก์เพื่อให้ดำเนินการต่อทางแอป เท่านี้ก็ดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อยทันที
5. เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-Eleven ช่องทางใหม่ที่เพิ่งเปิดให้ยืนยันตัวตน ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 ที่มีกว่า 13,000 สาขาทั่วประเทศ ก็สามารถยืนยันตัวตนแอปฯ ทางรัฐได้ เพียงกดที่เมนู "ยืนยันตัวตนที่ 7-Eleven" ระบบจะให้ระบุเลขบัตรประชาชน และ หมายเลขโทรศัพท์ เพื่อสร้างเป็น QR Code จากนั้นแจ้งกับพนักงานที่สาขาว่าต้องการยืนยันตัวตนแอป "ทางรัฐ" พนักงานก็จะสแกน QR Code ซึ่งระบบจะส่ง SMS เพื่อให้ยืนยันตัวตนผ่านทางแอป "ทางรัฐ" เท่านี้การยืนยันตัวตนก็เสร็จเรียบร้อย